11 พ.ค. ‘วันปรีดี พนมยงค์’ ครบรอบ 123 ปี ผู้ริเริ่มประชาธิปไตยในไทย

เปิดปฏิทินวันสำคัญ 11 พฤษภาคม 2566 ย้อนรำลึกวันเกิดปีที่ 123 ของ ‘ปรีดี พนมยงค์’ หรือ ‘อำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม’ ชายที่เป็นทั้งรัฐบุรุษ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แกนนำขบวนการเสรีไทย นายกรัฐมนตรี ก่อนถึงวาระสุดท้ายในฐานะผู้ลี้ภัย
ครบรอบ 123 ปี วันเกิด ‘ปรีดี พนมยงค์’ วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม 2566 ชวนรำลึกถึงหนึ่งในบุคคลสำคัญของหน้าประวัติศาสตร์ไทยที่มีบทบาทในหลายมิติ ไม่ว่าจะในแวดวงการเมืองไทย กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ การศึกษา การธนาคาร ตลอดจนเรื่องของสังคมและวัฒนธรรม แต่ขณะเดียวกันเขาก็ถูกมองจากกลุ่มการเมืองอีกขั้วว่าเป็นตัวอันตราย และโดนกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์และถูกบีบให้เดินทางออกนอกประเทศ ในวันนี้ The Thaiger ขอชวนมารู้จักเรื่องราวชีวิตของท่านผ่านประวัติ และบทบาทต่าง ๆ และบอกกิจกรรมในวันปรีดี พนมยงค์ที่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบ ถ้าพร้อมแล้วมาอ่านไปพร้อม ๆ กันเลยค่ะ
ประวัติ ปรีดี พนมยงค์ นักกฎหมายผู้เปลี่ยนแปลงการเมืองไทย
‘ปรีดี พนมยงค์’ เกิดเมื่อวันศุกร์ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 6 ปีชวด หรือวันที่ 11 พฤษภาคม 2443 ณ บ้านเรือนแพ หน้าวัดพนมยงค์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรของนายเสียง และนางลูกจันทร์ พนมยงค์ และได้รับการศึกษาที่ดีตลอดมา จนกระทั่งสำเร็จชั้นมัธยม 6 ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาแล้วเข้ามาศึกษาต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
ต่อมาใน พ.ศ.2460 ปรีดี พนมยงค์ ได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม จนสำเร็จการศึกษากฎหมายชั้นเนติบัณฑิตได้ตั้งแต่อายุ 19 ปี ต่อมาได้ทำงานเป็นเสมียนกรมราชทัณฑ์ จากการสนับสนุนของพระยาวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา อธิกรมราชทัณฑ์ในสมัยนั้น จนกระทั่งใน พ.ศ.2463 ได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงยุติธรรม ได้ทุนเรียนวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยกอง ประเทศฝรั่งเศส
เส้นทางชีวิตของปรีดี พนมยงค์ ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อพ.ศ.2467 หลังก่อตั้งสมาคมนักเรียนไทยในกรุงปารีส และได้เป็นประธานสมาคมมีความคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศไทย ร่วมกับนักเรียนไทยผู้คิดเห็นตรงกันอีก 5 คน ถือเป็นการประชุมครั้งแรกของ “คณะราษฎร” อันประกอบไปด้วย ร้อยโท แปลก ขีตตะสังคะ, ร้อยตรี ทัศนัย มิตรภักดี, ตั้ว ลพานุกรม, หลวงสิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี), แนบ พหลโยธิน
ปรีดี พนมยงค์ สำเร็จการศึกษาปริญญาเอก สาขานิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ ในปี 2469 ซึ่งถือเป็นคนไทยคนรักที่ได้รับปริญญาแห่งรัฐ ‘ดุษฎีบัณฑิตกฎหมาย’ และกลับประเทศไทยในปีถัดมา เพื่อทำงานเป็นผู้พิพากษาประจำกระทรวงยุติธรรม
นายปรีดี พนมยงค์ ได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็นหลวงประดิษฐ์มนูธรรม จากนั้นได้สมรสกับนางสาวพูนศุข ณ ป้อมเพชร์ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2471 มีบุตรและธิดา รวม 6 คน

ผลงานโดดเด่นของปรีดี พนมยงค์
เมื่อคณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้นำฝ่ายพลเรือน โดยเป็นผู้ร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475
พ.ศ. 2476 เสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจ “พระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร” หรือ “สมุดปกเหลือง” แต่เค้าโครงเศรษฐกิจนี้ถูกคัดค้าน และเป็นบ่อเกิดความขัดแย้งในกลุ่มคณะราษฎร ทำให้นายปรีดี พร้อมด้วยภรรยา เดินทางออกนอกประเทศ แต่แล้วในวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2476 รัฐบาลเรียกตัวนายปรีดีกลับและได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย
หลังจากที่ได้ขึ้นแท่นเป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยแล้ว ปรีดี พนมยงค์ ได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) ในปี พ.ศ. 2477 เพื่อเป็นตลาดวิชาอำนวยการศึกษาวิชากฎหมาย วิชาเศรษฐกิจ และวิชาการอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมให้ข้าราชการและประชาชนมีโอกาสศึกษาได้อย่างแพร่หลาย
ต่อมาใน พ.ศ. 2484 – 2488 ปรีดี ได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) มีผลงานด้านการดำเนินงานเสรีไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จนฝ่ายสัมพันธมิตรไม่ถือโทษว่าไทยเป็นประเทศแพ้สงคราม จึงได้รับพระบรมราชโองการจากรัชกาลที่ 8 โปรดเกล้าฯ ยกย่องเป็น “รัฐบุรุษอาวุโส” คนแรกของประเทศไทย
กระทั่งในปีถัดมา ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 7 ของประเทศไทย ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม – 23 สิงหาคม พ.ศ. 2489 รวมวาระการดำรงตำแหน่ง 152 วัน
ใน พ.ศ. 2490 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) สวรรคต ทำให้บ้านเมืองเกิดความขัดแย้งทางการเมือง และปรีดี พนมยงค์ได้ถูกกล่าวหา ทำให้นายปรีดีต้องลี้ภัยทางการเมืองไปยังประเทศจีนในปี พ.ศ. 2492
จนกระทั่งใน พ.ศ. 2513 นายปรีดีต้องการเดินทางไปอยู่กับครอบครัวที่ประเทศฝรั่งเศส จึงใช้หนังสือเดินทางคนต่างด้าวที่ออกโดยทางการจีน เดินทางไปยังกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และได้ฟ้องผู้ใส่ความจนสามารถชนะความทุกคดี และยังได้รับเงินบำนาญตามกฎหมาย อีกทั้งยังได้รับสิทธิ์ในการเดินทางของไทยกลับคืน
แต่แล้วใน พ.ศ. 2526 นายปรีดี ได้เสียชีวิตอย่างสงบในวัย 82 ปีบนโต๊ะทำงานส่วนตัวที่บ้านพักประเทศฝรั่งเศส ทำให้ในวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2543 ยูเนสโกประกาศยกย่องให้ นายปรีดี พนมยงค์ เป็นบุคคลสำคัญของโลก

กิจกรรมวันปรีดี พนมยงค์
สำหรับกิจกรรมในวันปรีดี พนมยงค์ ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีการจัดพิธีทำบุญในช่วงเช้าเพื่ออุทิศส่วนกุสลให้แก่ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ และท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ อีกทั้งยังมีพิธีมอบโล่รางวัล “ปรีดี พนมยงค์” ให้แก่นักศึกษาดีเด่น และมอบทุนการศึกษา “ทุนปาล พนมยงค์” ผ่านการจัดประกวดบทความภายใต้หัวข้อ “ปรัชญาสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย”
กิจกรรมสำคัญอีกอย่างหนึ่งเพื่อระลึกถึงปรีดี เนื่องในโอกาส วันปรีดี พนมยงค์ ก็คือ “ปาฐกถาวันปรีดี พนมยงค์” จัดโดยสถาบันปรีดี พนมยงค์ โดยจะมีการเชิญนักคิดนักวิชาการคนสำคัญของประเทศไทยมาเป็นองค์ปาฐก ในปี 2566 นี้ เป็นหัวข้อ “ดุลยภาพแห่งอำนาจ เปลี่ยนผ่านสังคมไทยด้วยการเลือกตั้ง” เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองต่อประเด็นอนาคตของประเทศไทยในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 27 ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ ถือเป็นสนามการเมืองครั้งสำคัญที่จะเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์
ขอบคุณข้อมูลจาก – สถาบันปรีดี พนมยงค์