บันเทิงอนิเมะ

รีวิว อีวานเกเลียน มหาสงครามวันพิพากษา อนิเมะสุดขลังเหนือกาลเวลา

ช่วงหลัง ๆ 10 ปีมานี้ ถือได้ว่าเป็นยุคทองของอนิเมะ มีอนิเมะมากมายถือกำเนิดขึ้นมามากมาย จากที่สมัยแรกยังเป็นที่รู้จักของคนเฉพาะกลุ่ม แต่ปัจจุบันเถียงไม่ได้เลยว่าได้กลายเป็นวัฒธรรมไปแล้ว ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้จากสื่อต่าง ๆ นอกจากโทรทัศน์ วันนี้ Thaiger จึงจะขอพาไปรู้จักกับ Neon Genesis Evangelion อีวานเกเลียน มหาสงครามวันพิพากษา อนิเมะยุค 90 ที่ได้รับการยกย่องจากหลายสำนักว่าเป็นอนิเมะที่ดีที่สุด และมีอิทธิพลต่อวงการอนิเมะ

Evangelion

Neon Genesis Evangelion หรืออีวานเกเลียน มหาสงครามวันพิพากษา คือ ออริจินัลอนิเมชันสร้างโดยสตูดิโอไกแน็กซ์ (Gainax) เขียนบทและกำกับโดย ฮิเดอากิ อันโนะ ออกฉายทางทีวีในปี 1995 และได้รับรางวัลอนิเมะใหญ่หลายรางวัล จนได้รับการยอมรับในหลายๆ แห่งว่า เป็นหนึ่งในการ์ตูนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล (One of The Greatest Anime of All Time) และถือได้ว่าเป็นเรื่องที่เยี่ยมยอดที่สุดและเป็นเรื่องต้นฉบับให้กับสื่อการ์ตูนต่าง ๆ ที่ตามมา

เนื้อเรื่องย่อ

เซ็ทติ้งของเรื่องนั้นคือโลกในยุคที่เกิดมหาภัยพิบัติ Second Impact ที่ได้ฆ่าประชากรโลกไปเกินครึ่ง อิคาริ ชินจิ เด็กหนุ่มอายุ 14 ปี ผู้เก็บกดที่มีปัญหาในการเข้าหาสังคมและคนอื่น และแม่ที่เสียชีวิตไปตั้งแต่ยังเด็ก วันหนึ่งขณะที่ชินจิกำลังใช้ชีวิตอยู่นั้น ได้มีสิ่งมีชีวิตปริศนาที่ถูกเรียกว่า เทวทูต (Angle) เข้ามาโจมตีเมือง Tokyo-3 ที่ชินจิอาศัยอยู่ หลังจากนั้นชินจิได้พบกับพ่อ อิการิ เกนโด ที่ทิ้งเค้าไปหลังจากการตายของแม่ ปัจจุบันเกนโดเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดขององค์กรต่อต้านเทวทูตอย่าง Nerv เกนโดนั้นต้องการให้ชินจิขึ้นขับหุ่นรบจักรกลชีวภาพ Evangelion หลังจากนั้นชีวิตของชินจิได้เปลี่ยนไป โดยที่ไม่รู้เลยว่าตัวเองจะเป็นกุญแจสำคัญในการกำหนดชะตากรรมของทุกชีวิต

ตัวละครหลัก

 

Evangelion ชินจิ

อิการิ ชินจิ : เด็กหนุ่มอายุ 14 ปี ผู้มีปัญหาในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ดูอมทุกข์ตลอดเวลา เหมือนแบกรับความรู้สึกผิดไว้มากมาย ไม่มีสังคมหรือเพื่อนแม้แต่คนเดียว ชินจิมีนิสัยที่ชอบใส่หูฟังและเทปเพลงที่พ่อทิ้งไว้ให้ก็จากไปตลอดเวลา ชินจิได้ถูกรับเลือกให้เป็นนักบินของหุ่น Evangelion หมายเลข 01 (Test-Type) ซึ่งเจ้าตัวไม่ได้ต้องการที่จะขับเลย แต่เพื่อที่ยอมขึ้นขับเพราะต้องการจะเป็นที่ต้องการของผู้อื่น

Evangelion Asuka

โซริว อาสุกะ แลงเรย์ : เด็กสาวอายุ 14 ปี เป็นผู้บังคับหุ่น Evangelion 02 (Production Model) ฝีมือการขับหุ่นอยุ่ในระดับสุดยอด มีนิสัยใจร้อน มุทะลุ เป็นไม้เบื่อไม้เมากับชินจิอยู่ตลอด เป้าหมายของอาสึกะนั้นมีเพียงอย่างเดียวคือการขึ้นสู่จุดสูงสุดของนักบิน Evangelion แม่ของอาสึกะนั้นได้ฆ่าตัวตายตั้งแต่ยังเด็กทำให้อาสึกะมีปมเกี่ยวกับความรู้ตั้งแต่นั้นมา

 

Evangelion เรย์

 

อายานามิ เรย์ : เด็กสาวคนแรกผู้เป็นนักบินคนแรกของ Evangelion โดยขับหุ่นหมายเลข 00 (Prototype) มีนิสัยเย็นชา ไม่แสดงอารมณ์ ไม่ว่าจะเสียใจหรือดีใจ ดูว่างเปล่าตลอดเวลา ที่มาของเรย์นั้นปริศนา ไม่รู้ว่าเป็นใครมาจากไหน มีเพียงเกนโดเท่านั้นที่เรย์จะยอมคุยด้วย

 

Evangelion Kaworu

นางิสะ คาโอรุ : เด็กหนุ่มปริศนาที่ไม่ทราบที่มา ที่จู่ ๆ ปรากฎในฐานะนักบิน Evangelion หมายเลข 06 ได้การรับคัดเลือกที่เหนืออำนาจของ Nerv คาโอรุมีนิสัยที่อ่อนโยน ใจดี และเป็นคนที่เข้าใจความรู้สึกของชินจิ เป็นคนที่ชินจิเปิดใจมากที่สุด แต่เป้าหมายของคาโอรุนั้นยังเป็นปริศนาว่าแท้จริงแล้ว ฝักฝ่ายใดกันแน่

 

Evangelion misato

คัตสึรางิ มิซาโตะ : หัวหน้าฝ่ายยุทธการขององค์กรเนิร์ฟสาขาญี่ปุ่น ได้รับอำนาจเต็มจาก อิคาริ เกนโดในการยับยั้งการรุกรานของเหล่าเทวทูต เป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิตในวันที่เกิด Second Impact นิสัยเข้มงวดในหน้าที่ แต่ก็เป็นคนที่ออกจะทำตัวง่าย ๆ สบาย ๆ ดื่มเหล้าเก่ง เป็นคนที่รับชินจิมาอาศัยอยู่ด้วยกัน เพื่อให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างมากที่สุด

Evangelion Gendo

อิการิ เกนโด : ผู้บัญชาการสูงสุดขององค์กร Nerv ผู้เป็นพ่อของชินจิ เกนโดได้เสียภรรยาไปหลังจากที่ชินจิอายุยังเด็ก ๆ หลังจากนั้นเกนโดได้ทิ้งชินจิไป แล้วไม่ติดต่อใด ๆ กับชินจิ เป้าหมายของเกนโดนั้นยังเป็นปริศนาว่าแท้จริงแล้วต้องการอะไร เกนโดไม่ชอบพูดคุยกับคนอื่นนอกจาก เรย์ ด้วยเหตุผลบางอย่าง

รีวิว: ความรู้สึกหลังจากดู

หลังจากดูจบ เข้าใจเลยว่าอนิเมะเรื่องนั้นไม่ได้เหมาะกับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการเล่าเรื่อง ลำดับภาพ และข้อความแฝงภายในที่ไม่เหมาะกับคนทั่วไป และการดำเนินเรื่องที่ชวนปวดหัวและง่วงอย่างมาก แต่ทว่าสิ่งนี้คือส่วนที่สำคัญอย่างมากเพราะประเด็นในเรื่องนั้นไม่ใช่การที่เราดูหุ่นยักษ์ต่อสู้กับสัตว์ประหลาดทั่วไป แต่มันยังให้ความรู้สึกของดราม่า-ไซไฟ ผสมจิตวิทยาได้ลงตัว และจุดศูนย์กลางของทุกอย่างภายในเรื่องนั้นจะอยู่ที่ตัวเอกอย่างชินจิ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นทางจิตวิทยาของชินจิที่ว่าความรู้สึกด้านลบต่าง ๆ เช่น Hedgehog’s Dilemma ที่ว่าด้วยภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกในความสัมพันธ์ของชินจิ ที่ชินจิอยากจะมีความสุขในการเข้าหาคนอื่นแต่ก็กลัวเหมือนกันว่าจะถูกทำร้าย ซึ่งภาวะนี้ก็เกิดขึ้นกับอาสึกะเหมือนกัน สองคนนี้จึงเป็นลักษณะของความสัมพันธ์ภายในเรื่องที่ส่งผลกระทบด้านจิตใจให้กับตัวละครต่าง ๆ

นอกเหนือนี้ภายในอนิเมะยังให้กลิ่นอายของความย้อนยุคต่าง ๆ ที่ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดที่ปรากฏนั้นเกี่ยวกับความหลังทางศาสนา ปรัชญา วิทยาศาสตร์ ที่พาเราไปรู้จักความหมายชีวิตของแต่ล่ะคน ประเด็นเรื่องเพศก็เป็นที่น่าสนใจภายในเรื่อง ที่แทรกมาในบทพูดและการกระทำของชินจิ ที่จะชัดเจนอย่างมากช่วงที่คาโรุปรากฏตัวขึ้น

 

Evangelion ภาพ

ดีไซน์ของฉากและตัวละครต่าง ๆ ที่น่าสนใจก็ไม่ได้มีแค่สวยเท่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีความหมายทางศาสนาอย่างโจ่งแจ้ง เช่น สัญลักษณ์ไม้กางเขน ม้วนหนังสือเดดซี เป็นต้น การลำดับภาพก็มีความหมายโดยนัยถึงความแปรปรวนทางอารมณ์อย่างรุนแรงภายในเรื่อง เสียงประกอบฉากต่าง ๆ ก็มีเอกลักษณ์ในตัวเอง ไม่แปลกใจทำไมเพลงประกอบฉากภายในเรื่องนี้ถึงได้คำชมล้นหลาม นอกจากนี้เพลงเปิดของ Evangelion อย่าง Zankoku na tenshi no te-ze ที่ได้คุณ Yoko Takahashi มาร้องประกอบ ที่ดังระเบิดจนถูกยกให้เป็นเพลงอนิเมะที่ร้องเยอะที่สุดของร้านคาราโอเกะญี่ปุ่นในปี 2022

สรุป

Evangelion นั้นเป็นอนิเมะที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง ให้กลิ่นอายของหุ่นรบต่อสู้ที่สอดแทรกประเด็นทางปรัชญาสูง ที่มีฐานแฟนทั่วโลก จึงเรียกได้ว่าคืออนิเมะน้ำดีเรื่องหนึ่งหากลองเปิดใจดู ถึงช่วงแรกจะน่าเบื่อจนล้มเลิกดู ที่หลาย ๆ คนก็มีการตีตอนจบแตกต่างกันออกไป จนถึงปัจจุบันที่ก็ยังเป็นที่ถกเถียงอยู่ แต่หากอดทนดูจนจบ คุณอาจจะได้คำตอบในแบบของตัวครับ ต่อจากนี้คือการไล่ลำดับการดูที่ Thaiger แนะนำให้ดูครับ

ไทมไลน์ของ Evangelion

1. Neon Genesis Evangelion (1995) : เป็น TV series ดั้งเดิม 26 ตอน
2. Neon Genesis Evangelion: Death & Rebirth (1997) : สรุปเนื้อเรื่องจากเวอร์ชันทีวี (สามารถข้ามได้)
3. Neon Genesis Evangelion: The End of Evangelion (1997) : เป็นตอนจบของ Neon Genesis Evangelion (1995)

ต่อมา ฮิเดอากิ อันโนะ ได้เริ่มโปรเจคการคืนจอของ Evangelion ในชื่อของ Rebuild of Evangelion โดยฉายเป็นภาพยนตร์ทั้งหมด 4 ภาค ที่หลาย ๆ คนบอกว่าคือการรีบูทจักรวาลใหม่ แต่จริงแท้เป็นอย่างไร ผมแนะนำให้ทุกคนรับชมด้วยตัวเองครับ

4. Evangelion: 1.0 You Are (Not) Alone (2007)
5. Evangelion: 2.0 You Can (Not) Advance (2009)
6. Evangelion: 3.0 You Can (Not) Redo (2012)
7.Evangelion: 3.0+1.0 Thrice Upon a Time (2021)

เพลงประกอบ

Thosapol

นักเขียนบทความที่ Thaiger จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชี่ยวชาญเรื่องบทความท่องเที่ยว บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ผ่านการค้นหาข้อมูลโดยละเอียดพร้อมด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง งานอดิเรกมีความสนใจในกระแสข่าวรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือเป็นทาสแมวร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ช่องทางติดต่อ thospol@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button