ท่องเที่ยว

รู้หรือไม่ ‘คำต้องห้ามในสนามบิน’ พูดไม่ระวัง เสี่ยงติดคุก 15 ปี

รวมคำห้ามพูดในสนามบิน-บนเครื่องบิน คำพูด เขียนข้อความ หรือการกระทำอื่น ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุก สูงสุด 15 ปี ปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทุกสนามบินนั้นย่อมมีกฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ สำหรับควบคุมความเรียบร้อยเพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวาย รวมไปถึงข้อบังคับเกี่ยวกับความปลอดภัย วันนี้ Thaiger รวบรวม คำพูดต้องห้ามในสนามบิน บนเครื่องบิน และพฤติกรรมที่ไม่ควรทำ ที่อาจส่งผลให้เกิดความวุ่นวาย และความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ มีคำพูดไหน ประโยคใดที่ห้ามพูดในสนามบินบ้าง พร้อมแนะนำข้อกฏหมายโทษของการฝ่าฝืนกล่าวคำต้องห้ามในสนามบิน เข้ามาเช็กได้เลยที่นี่ครับ

เช็กลิสต์ คำห้ามพูดในสนามบิน บนเครื่องบิน ตามกฎการบินสากล

จากเว็บไซต์ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้แบ่งกลุ่มคำพูดที่ไม่ควรพูดในสนามบิน-บนเครื่องบิน และการกระทำอื่น ๆ ที่ไม่ควรทำที่ปฏิบัติกันเป็นมาตรฐานสากล เนื่องจากการสื่อสารโดยใช้คำพูด ข้อความ หรือการกระทำ ที่อาจจะทำให้บุคคลใดก็ตามในสนามบินหรือในเครื่องบินตื่นตกใจ จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายต่อความปลอดภัยของเครื่องบินที่อยู่ในระหว่างทำการบิน ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่

1. คำพูดที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด อันเป็นเหตุให้ผู้อื่นตื่นตกใจ

  • ระเบิด (Bomb Explosive) เช่น มีระเบิด, เปิดกระเป๋า ระวังเจอระเบิด, จะระเบิดสนามบิน, จะระเบิดเครื่องบิน เป็นต้น
  • การก่อการร้าย (Terrorist Attack) เช่นพูดว่า นี่คือการก่อการร้าย เป็นต้น
  • จี้เครื่องบิน, ปล้นเครื่องบิน (Hijack) เช่นพูดว่า นี่คือการจี้เครื่องบิน, Hijack เป็นต้น

2. คำพูด เขียนข้อความ หรือการกระทำอื่น ๆ ที่เจ้าหน้าที่พิจารณาว่าคุกคาม ข่มขู่หรือเป็นภัย

  • คำพูดที่มีลักษณะเสี่ยงภัย
  • เช่นคำพูดว่า “ตรวจได้แต่ ระวังเชื้ออีโบล่า”
  • ตะโกนว่า “เครื่องบินลำนี้กำลังจะตก”
  • พฤติกรรมที่น่าสงสัยหรือสร้างความวุ่นวาย
  • เขียนว่า “ระเบิด” ไว้ที่กระจก
  • โยนกระเป๋าหรือสิ่งของภายในตัวอาคารใส่เจ้าหน้าที่ กลุ่มผู้โดยสาร หรือผู้ใช้บริการแล้ววิ่งหนี
รวมคำห้ามพูดในสนามบิน-บนเครื่องบิน
ขอบคุณรูปภาพจาก บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)

เปิดข้อกฎหมาย บทลงโทษ “พูดคำต้องห้ามในสนามบิน” แล้วทำให้เกิดความเสียหาย

อ้างอิงตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ. 2558 ระบุข้อกฎหมายและบทลงโทษสำหรับทั้งผู้ที่ฝ่าฝืนและผู้ร่วมฝ่าฝืน ที่หากพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นผู้สนับสนุน ร่วมกันเป็นกลุ่มแก๊งตามความคึกคะนอง ถือว่าความผิดนั้นฐานเท่ากับผู้ละเมิดฝ่าฝืน สำหรับกฎการละเมิดและสร้างความวุ่นวายในสนามบินมีดังนี้

บทลงโทษสำหรับคนที่ก่อเหตุพูดคำห้ามพูดในสนามบิน

ผู้ก่อเหตุฝ่าฝืนพูดคำห้ามพูดในสนามบินหรือบนเครื่องบิน มีความผิดตามมาตรา 22 ผู้ใดแจ้งข้อความหรือส่งข่าวสารซึ่งรู้อยู่แล้วว่าเป็นเท็จ และการนั้นเป็นเหตุหรือน่าจะเป็นเหตุให้ผู้ที่อยู่ในท่าอากาศยานหรือผู้ที่อยู่ในอากาศยานในระหว่างการบินตื่นตกใจ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้เกิดอันตรายต่อความปลอดภัยของอากาศยานในระหว่างการบิน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-15 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000 – 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

บทลงโทษสำหรับผู้ร่วมก่อเหตุในคดีจากการพูดคำห้ามพูดในสนามบิน

ในส่วนของข้อกำหนดบนลงโทษของผู้ร่วมก่อเหตุการกล่าวข้อความต้องห้ามในสนามบินตาม มาตรา 23 ผู้ใดเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดตามมาตรา 15 มาตรา 16 มาตรา 17 มาตรา 18 มาตรา 19 มาตรา 20 มาตรา 21 หรือมาตรา 22 ต้องระวางโทษ เช่นเดียวกับตัวการ

สำหรับ มาตรา 24 ผู้ใดพยายามกระทำความผิดตามมาตรา 15 มาตรา 16 มาตรา 17 มาตรา 18 มาตรา 19 มาตรา 20 มาตรา 21 หรือมาตรา 22 ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำ

อ้างอิง: 1

Thosapol

นักเขียนบทความที่ Thaiger จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชี่ยวชาญเรื่องบทความท่องเที่ยว บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ผ่านการค้นหาข้อมูลโดยละเอียดพร้อมด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง งานอดิเรกมีความสนใจในกระแสข่าวรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือเป็นทาสแมวร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ช่องทางติดต่อ thospol@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button