‘ทนายตั้ม’ แฉ ‘ชูวิทย์’ ขยี้ปมนำที่ดินสวนสาธารณะ ไปทำโครงการหลายพันล้าน
‘ทนายตั้ม’ ออกโรงโพสต์แฉ ‘ชูวิทย์’ ปมนำที่ดินที่เคยอุทิศให้คนกรุงเทพมหานคร เป็นสวนสาธารณะ ไปทำโครงการอสังหาริมทรัพย์หลายพันล้าน
ในวันที่ 2 เมษายน 2566 ทนายตั้ม ได้ออกมาโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเพจ ษิทรา เบี้ยบังเกิด เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ เกี่ยวกับสวนสาธารณะของนายชูวิทย์ กมลวิษฎ์ โดยระบุว่า
“หลายสิบปีก่อนได้ติดตามข่าว ที่ดินบาเบียร์ ของพี่ชีวิทย์ ที่ให้คนไปรื้อจนถูกดำเนินคดี จำได้ว่าศาลชั้นต้นยกฟ้องพี่ชูวิทย์ ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำคุก ก็สู้คดีมาตลอดแต่พอถึงวันฟังคำพิพากษาศาลฎีกา จู่ ๆ พี่ชูวิทย์ก็แถลงรับสารภาพ!!
ตอนนั้นจำได้ผมพึ่งเป็นทนายได้ไม่นาน การที่จู่ ๆ จำเลยปฏิเสธมาตลอด จะรับสารภาพตอนนั้นก็งงเหมือนกัน ทำได้ด้วยหรอ แล้วศาลจะลดโทษไหม?
หลายคนอาจจะเคยได้ยินทนายรุ่นเก่า ๆ พูดว่า การรับสารภาพเพราะจำนนต่อหลักฐาน ส่วนมากศาลจะไม่ลดโทษให้ คำนี้ติดหูผมมาก
ระหว่างที่ศาลเลื่อนอ่านคำพิพากษาไปนั้น นักกฎหมายสมัยนั้นก็วิจารณ์เรื่องนี้กันไปต่าง ๆ นา ๆ บ้างก็ว่าไม่น่าจะทำได้ บ้างก็ว่าเป็นสิทธิของจำเลย
พอถึงวันฟังคำพิพากษาปรากฎว่าศาลฎีกาลดโทษให้ โดยเหตุผลหนึ่งคือ จำเลยได้มีการนำที่ดินพิพาทไปทำประโยชน์เป็นสวนสาธารณะให้ประชาชนทั่วไปใช้ได้ โดยไม่ได้นำที่ดินไปทำธุรกิจแสวงหาผลกำไรอีก บ่งบอกว่าจำเลยรู้สึกผิด นับว่ามีเหตุปราณี เห็นสมควรกำหนดโทษใหม่ให้เหมาะสม พิพากษาแก้จากจำคุก 5 ปี ให้เหลือแค่ 2 ปี ไม่รอลงอาญา
ได้ลดโทษมา 3 ปี เหนาะ ๆ เพราะให้ที่เป็นสาธารณะประโยชน์
ผมถึงรู้สูตรนี้ว่า จำเลยสามารถกลับคำให้การชั้นฎีกา และลดโทษได้ ถ้ามีเหตุผลดี ๆ ก็เลยสักจำเอาคดีที่ทนายของพี่ชูวิทย์ใช้วิชาขั้นเทพนี้มาประยุกต์ใช้บ้าง
เมื่อไม่นานมานี้ผมพึ่งรู้ข่าวว่าที่ดินที่พี่ชูวิทย์อุทิศในคนกทม.ไว้ใช้เพื่อสาธารณะ ตอนนี้กำลังพัฒนาให้เป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ มูลค่าหลายพันล้าน ก็ตกใจเพราะนักกฎหมายทุกคนทราบดีว่า ถ้าแค่พูดว่ายกที่ดินให้สาธารณะมันจะโอนทันที โดยไม่ต้องจดทะเบียน และไม่สามารถถอนคืนการให้ได้
เรื่องนี้ท่านผู้ว่าฯชัชชาติ และกรุงเทพมหานคร ก็ต้องทำหน้าที่ของตัวเอง ทำความจริงให้ปรากฎ ไม่อย่างนั้นคนที่อยู่แถวนั้นและเคยใช้ประโยชน์สวนชูวิทย์อาจจะรวมตัวกันไปฟ้องคดีต่อศาลเอง เพื่อทวงคืนปอดของคนกรุงเทพฯ ซึ่งสามารถทำได้
แต่ก็ไม่รู้ว่าเมื่อถึงเวลานั้น พี่ชูวิทย์จะใช้อภินิหารทางกฎหมายท่าไหน เอาที่ดินที่ยกให้สาธารณะไปแล้ว มาเป็นของครอบครัวตัวเองได้อีก เรื่องนี้คงถกเถียงกันอีกนาน จนกว่าจะมีคำพิพากษาศาลฎีกาตัดสินเป็นแนวทางต่อไป”