ไลฟ์สไตล์

23 มีนาคม 2566 วันอุตุนิยมวิทยาโลก สภาพอากาศและคำพยากรณ์ที่ผูกชีวิตมนุษย์ไว้

23 มีนาคม ของทุกปี จะตรงกับวันสำคัญระดับโลกซึ่งก็คือ วันอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Day) ในปี 2566 ก็เวียนมาถึงอีกครั้งแล้ว ไทยเกอร์จึงอยากชวนทุกคนมารู้จักความสำคัญของวันนี้ และเรียนรู้ความหมายของคำว่า อุตุนิยมวิทยา ซึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตและดินฟ้าอากาศ ฤดูกาลที่เราได้สัมผัส รวมถึงคำพยากรณ์อากาศที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ คำพยากรณ์ที่คนไม่ใช่สายมูก็ดูได้

ประวัติและความเป็นมา วันอุตุนิยมวิทยา 23 มีนาคม 2566

วันอุตุนิยมวิทยาโลก กำหนดให้ตรงกับวันที่ 23 มีนาคม โดยในปี 2566 จะครบรอบ 73 ปีของการถือกำเนิดวันสำคัญนี้ ปีนี้มาพร้อมกับแนวคิด “อนาคตของสภาพอากาศ ภูมิอากาศ และน้ำ ที่ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น” หรือภาษาอังกฤษคือ “The Future of Weather, Climate and Water across Generations” วันนี้มีความเป็นมาอย่างไร ไปติดตามพร้อมกันเลย

23 มีนาคม วันอุตุนิยมวิทยาโลก

ในปี พ.ศ. 2425 ถึง พ.ศ. 2426 ถูกกำหนดให้เป็น ปีขั้วโลกสากล ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกทั้ง 11 ชาติได้ร่วมมือจัดตั้งสถานีอุตุนิยมวิทยาบนขั้วโลกเหนือ 12 สถานี และบนขั้วโลกใต้อีก 2 สถานี เพื่อตรวจวัดทางอุตุนิยมวิทยาอย่างครอบคลุมและจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นสนามแม่เหล็กไฟฟ้าขั้วโลก การสุ่มเก็บตัวอย่างทางอากาศ การตรวจทางสมุทรศาสตร์ การตรวจธารน้ำแข็งทั่วโลก และไฟฟ้าในบรรยากาศ

จนกระทั่งใน พ.ศ. 2493 องค์กรสหประชาชาติ ได้กำหนดให้วันที่ 23 มีนาคมของทุกปีเป็น วันอุตุนิยมวิทยา เป็นครั้งแรก เป็นผลจากการบังคับใช้อนุสัญญาองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ติดตาม รายงานและเก็บข้อมูล การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลก โดยปีนี้เป็นครั้งแรกที่มีการใช้คอมพิวเตอร์ คำนวณพยากรณ์อากาศเชิงตัวเลขได้สำเร็จ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2494 องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ได้รับการจัดตั้งให้เป็นองค์การชำนัญการพิเศษของสหประชาชาติ (UN) โดยมีธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบมาก็คือในวันนี้ ทางกรรมการบริหารองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกจะคัดเลือกหัวข้อสำคัญมารำลึกและยกย่องความสำคัญของวันอุตุนิยมวิทยาโลก

จากนั้นในช่วงปี พ.ศ. 2504 ถึง พ.ศ. 2506 มนุษย์ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสภาพอากาศมากยิ่งขึ้น โดยมีการจัดตั้งโครงการวิจัยบรรยากาศโลก (GARP) และโครงการตรวจอากาศโลกขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WWW) เพื่อศึกษา รวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพอากาศ รวมถึงข้อมูลสิ่งแวดล้อมของโลกด้านต่าง ๆ นั่นเอง

วันอุตุนิยมวิทยาโลก66

ความเป็นมาของ อุตุนิยมวิทยาในประเทศไทย

สำหรับการศึกษาด้านอุตุนิยมวิทยาประเทศไทย เริ่มต้นขึ้นในกองทัพเรือ เมื่อปี พ.ศ. 2449 โดย นายพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ถือว่าเป็น ผู้ให้กำเนิดวิชาอุตุนิยมวิทยาไทย

จากนั้นในปี พ.ศ. 2466 ได้มีการก่อตั้งแผนกอุตุนิยมศาสตร์และสถิติสังกัดกองรักษาน้ำ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตราธิการ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2476 ได้ยกฐานะเป็นกองอุตุนิยมวิทยาและสถิติ กรมชลประทาน ก่อนจะย้ายมาอยู่สังกัดกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ กระทรวงกลาโหม ในปี พ.ศ. 2479

งานอุตุนิยมในไทยก้าวหน้าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ. 2485 ได้มีการยกฐานะจากกองเป็นกรมอุตุนิยมวิทยา ก่อนที่ไทยจะได้เข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิกลำดับที่ 19 ขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ในปี พ.ศ. 2492 จากสมาชิกทั้งหมด 186 ประเทศ

โดยไทยซึ่งเป็นประเทศสมาชิกของ WMO ตั้งแต่ต้น จึงได้ร่วมเฉลิมฉลองวันอุตุนิยมวิทยาโลก ตั้งแต่ปีแรกที่วันนี้ถูกกำหนดขึ้น

ปัจจุบันกรมอุตุนิยมวิทยา อยู่ภายใต้สังกัด กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

วันอุตุนิยมวิทยาโลก66

อุตุนิยมวิทยา หมายความว่า วิชากำหนดฤดู เป็นวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของมนุษย์โดยตรง ทั้งเรื่องลมฟ้าอากาศ ปรากฏการณ์ และบรรยากาศ เนื่องจากมนุษย์ต้องใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติ สภาพอากาศ และฤดูกาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

รวมถึงมีอิทธิพลต่อกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ เช่น การเกษตร คุณภาพชีวิต การคมนาคม การประมง ฯลฯ ดังนั้นอุตุนิยมวิทยาจึงถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก

ตราบใดที่มนุษย์ยังคงต้องอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ใช้อากาศหายใจ ใช้น้ำฝนเพื่อบริโภคในชีวิตประจำวันหรือทำการเกษตร รวมถึงต้องเดินทางด้วยรถยนต์ เรือ เครื่องบิน ต้องเปิดดูคำพยากรณ์อากาศเพื่อวางแผนว่าวันนี้จะต้องพกร่มออกไปทำงานหรือไม่ ศาสตร์ของอุตุนิยมวิทยาก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของมนุษยชาติอย่างตัดไม่ขาดไปอีกนานเท่านาน.

23 มีนาคม วันอุตุนิยมวิทยาโลก

ขอบคุณข้อมูลจาก : oservice.skru.ac.th

Lalita C.

นักเขียนคอนเทนต์ SEO แห่งทีมไทยเกอร์ไทย คลุกคลีกับการเขียนตั้งแต่สมัยเรียน ชอบการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ติดตามข่าวสารจากโลกออนไลน์ นำมาสรุป เล่าเรื่องให้เข้าใจง่าย ผ่านมุมมองน่าสนใจที่คนมักจะมองข้าม ทั้งข่าวบันเทิง บทความ งานเขียนแนวไลฟ์สไตล์ รวมถึงทุกอย่างที่อยากให้นักอ่านได้รู้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button