ข่าว

อ่านด่วน! อ.เจษฏ์ เทียบหาก ‘ซีเซียม-137’ โดนหลอม เสี่ยงเกิดเมฆกัมมันตรังสี

กลายเป็นข่าวน่าวิตกทั่วประเทศ หลังมีรายงานว่า วัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้ว หายปริศนาไปจากโรงไฟฟ้าพลังงานไอน้ำ ภายในนิคมอุตสาหกรรม 304 อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี

ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2566 รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ เจ้าของเพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ได้โพสข้อความระบุว่าตอนนี้พบ ซีเซียม-137 แล้ว และได้มีการอธิบายเพิ่มเติมถึงความอันตรายหาก วัสดุกัมมันตรังสี โดยหลอมอย่างสมบูรณ์ ซึ่งอาจซ้ำรอยโศกอนาถกรรม เมฆกัมมันตรังสี ที่ประเทศสเปน

” ข่าวด่วน “หาท่อ ซีเซียม-137 เจอแล้วครับ!” เกือบซ้ำรอยอุบัติเหตุฝุ่นรังสี ที่สเปน!

เมื่อตอนค่ำนี้เอง นักข่าวช่อง 3 โทรมารายงานว่า ค้นหา “ท่อบรรจุสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137” เจอแล้วครับ อยู่ที่โรงงานหลอมเหล็กแห่งหนึ่ง และกำลังจะถูกนำเข้าไปหลอมกับพวกโลหะอื่นๆ แล้ว ดีนะว่ายังไม่โดนหลอมไป … พร้อมกับคำถามว่า จะเกิดอะไรอันตรายขึ้นหรือไม่ ถ้ามันถูกหลอมไปแล้ว!?

คร่าว ๆ คือ ตอบได้ยากครับ ว่าจะเกิดอันตรายอะไรบ้างเพราะมีเหตุปัจจัยหลายอย่าง (ทั้งปริมาณของสาร และลักษณะการหลอมโลหะ) ที่น่าจะตอบได้คือ มันไม่น่าจะเกิดเหตุระเบิด แบบระเบิดนิวเคลียร์ พลูโตเนียม-ยูเรเนียม อะไรทำนองนั้นขึ้น ไม่น่าจะห่วงในเรื่องนี้

และเมื่อซีเซียม-137 ถูกเผาหลอมรวมตัวกับโลหะอื่นๆ เสร็จแล้ว จนกลายเป็น “โลหะผสมที่มีกัมมันตภาพรังสี” นั้น ก็บอกได้ยาก ว่าจะยังคงมีความสามารถในการสลายตัวให้รังสีเบต้าและรังสีแกมม่า มากเท่าเดิมหรือไม่ (ต้องให้ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ หรือ ปส. เอาเครื่องวัดรังสีมาตรวจ)

แต่ที่น่าห่วงคือ การหลอมโลหะก็ย่อมจะเกิดการประทุของวัสดุที่เอามาเข้าเตาหลอม ซึ่งสามารถที่จะปลดปล่อยตัวสารซีเซียม-137 นั้นให้กระเด็นฟุ้งกระจายออกมาจากเตาหลอม สู่ผู้คนที่อยู่โดยรอบในโรงงานจนเกิดอันตรายจากการรับเข้าไปในร่างกาย (เช่น ผ่านทางการหายใจ หรือการสัมผัส หรือเปรอะเปื้อนเสื้อผ้า)

สถานการณ์ที่หนักที่สุด ที่เป็นไปได้คือ เถ้าเขม่าควันที่ออกจากเตาเผาขึ้นปล่องไฟไป อาจจะนำพาเอาสารซีเซียม-137 ล่องลอยออกไปสู่ชั้นบรรยากาศ (หรือทำให้เกิด radioactive cloud เมฆกัมมันตรังสี) และไปร่วงหล่นเป็น fallout หรือฝุ่งผงรังสี ไปทั่วบริเวณที่กระแสลมพาไป เป็นอันตรายต่อผู้ที่สัมผัสหรือสูดดม และถ้ามีการปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ก็จะยิ่งมีอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและการนำน้ำไปใช้อุปโภคบริโภค

ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดมาแล้วในต่างประเทศ เช่น ที่ประเทศสเปน (ดูด้านล่าง) และกลายเป็นวิกฤตินิวเคลียร์ครั้งใหญ่ ที่ควบคุมแทบไม่ได้ เลยทีเดียวครับ อ่านข้อมูลข่าวต่างๆ เพิ่มเติมด้านล่างนี้

ซีเซียม-137 เมฆกัมมันตรังสี
ที่มา: เรื่องเล่าเช้านี้

1. รายงานข่าวล่าสุด ยืนยันว่า สารที่พบในโรงหลอมเหล็กแห่งหนึ่ง เป็นวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม 137 สภาพถูกบีบอัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยม กองซ้อนกันเป็นชั้นสูง เตรียมหลอมตามรอบช่วงเย็น เคราะห์ดีเจ้าหน้าที่ใช้เครื่องมือตรวจจับรังสีได้ทันเวลา หวิดเกิดโศกนาฏกรรม

– วันนี้ 19 มี.ค.66 เจ้าหน้าที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ป.ส.) พร้อมด้วยอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี , สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปราจีนบุรี , กรมการปกครอง ออกตรวจการปฏิบัติงานในเขตอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี ตรวจโรงหลอมเหล็ก ที่คาดว่าอาจจะเป็นจุดที่สารกัมมันตรังสี ‘ซีเซียม 137’ ถูกขายเป็นของเก่า ปนมากับเหล็กที่จะเข้ามาได้

– ได้มีการใช้เครื่องมือของ ป.ส. เข้าตรวจวัดสแกนหารังสีตามกองเศษเหล็ก รวมทั้งเหล็กที่ถูกบีบอัดที่จะเข้าเตาหลอมบางจุด ขณะกำลังตรวจสอบพบว่า เครื่องตรวจวัดอาจจะเจอกับสารบางอย่าง แต่ไม่ระบุชนิด หรือเป็นสารกัมมันตรังสี ‘ซีเซียม 137’ ทำให้เจ้าหน้าที่ ป.ส. เข้าตรวจสอบ โดยขณะตรวจพบอย่างละเอียด ยังไม่ยืนยันว่าเป็นสารกัมมันตรังสีซีเซียม 137 หรือไม่ เพราะกองเศษเหล็กมีจำนวนมาก ยากแก่การนำเครื่องตรวจวัดเข้าถึงได้ นอกจากนี้ ยังตรวจตะกอนจากเตาหลอมรวมทั้งเศษดินภายในโรงงาน พบว่ามีสารกัมมันตรังสี ‘ซีเซียม 137’

– ล่าสุด ทางสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติได้ตรวจเช็คอย่างละเอียด และยืนยันว่า สารที่พบในโรงหลอมเหล็ก เป็นวัสดุกัมมมันตรังสี ‘ซีเซียม 137’ ทางจังหวัดปราจีนบุรีได้ประกาศปิดโรงงาน และกันพื้นที่ไม่ให้พนักงานทั้งหมดออกจากโรงงานเพื่อความปลอดภัย

2. เหตุการณ์วิกฤติระทึก ที่ซีเซียม-137 ซึ่งถูกเก็บไว้ในภาชนะโลหะ แล้วอาจจะถูกนำไปปะปนกับโลหะเก่าและถูกนำไปหลอม จนอาจทำให้เกิด “โลหะผสมที่มีกัมมันตภาพรังสี” ได้เช่นนี้ เคยเกิดขึ้นในต่างประเทศมาก่อนแล้ว (ข้อมูลจาก https://www.nst.or.th/article/article54/article54-004.html)

– ดังเช่น ในปี ค.ศ. 1988 เกิดอุบัติเหตุขึ้นที่ทางตอนใต้ของประเทศสเปน เมื่อบริษัท Acerinox ซึ่งดำเนินกิจการรีไซเคิ้ลแปรรูปของเก่า ได้พลาดทำการหลอมซีเซียม-137 ที่มาจากเครื่องกำเนิดรังสีแกมมา ทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสี ในรูปของ “radioactive cloud เมฆกัมมันตรังสี” (ดูรายละเอียดในข้อ 3.)

– และ ในปี ค.ศ. 2009 บริษัทปูนซีเมนต์ของประเทศจีน ในจังหวัด Shaanxi ได้รื้อโรงงานผลิตซีเมนต์เก่าที่เลิกใช้แล้ว โดยไม่ได้ดำเนินการตามมาตรฐานการปฏิบัติงานกับสารรังสี ทำให้ซีเซียม-137 บางส่วนที่ใช้ในเครื่องมือตรวจวัดซีเมนต์ ถูกส่งไปหลอมรวมไปกับโลหะที่ไม่ใช้แล้ว 8 คันรถที่โรงงานหลอมเหล็ก

3. อุบัติเหตุ เอเซอริน็อกซ์ (Acerinox accident)

– บริษัท Acerinox ของสเปน เป็นบริษัทที่ผลิตเหล็กชนิดสเตนเลสสตีล โดยในเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 1998 เกิดเหตุการที่สาร cesium-137 ได้หลุดปนเข้าไปอยู่ในโรงงานแปรรูปเศษเหล็ก ที่อยู่ในเมือง Los Barrios ทั้งที่โรงงานดังกล่าวมีเครื่องมือในการตรวจจับวัตถุที่อาจเป็นอันตราย แต่ก็ยังมีสารซีเซียม-137 ผ่านเข้าไปได้และถูกหลอมในเตาเผาหนึ่งของโรงงาน

– จากนั้น ได้เกิด “เมฆกัมมันตรังสี radioactive cloud” ขึ้น และถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศโดยทันที ซึ่งไม่โดนตรวจจับได้จากเครื่องตรวจวัดที่ปล่องไฟของโรงงานนั้น แต่ประเทศอื่นๆ อย่าง ฝรั่งเศส เยอรมันนี ออสเตรีย สวิสเซอร์แลนด์ และอิตาลี กลับตรวจพบได้ โดยขี้เถ้าที่โรงงานนี้สร้างขึ้น ถูกพบว่ามีระดับของกัมมันตภาพรังสีสูงมาเพียงพอที่จะเป็นอันตรายได้ โดยมีระบบความเข้มข้นของรังสีสูงขึ้นจากปรกติถึง 1 พันเท่า

– มีคนงาน 6 คนในโรงงานดังกล่าวที่ได้รับอันตรายจากการปนเปื้อนของซีเซียม-137 เพียงเล็กน้อย โรงงานได้ถูกปิดชั่วคราวเพื่อทำความสะอาดกำจัดการปนเปื้อน รวมไปถึงโรงงานอื่น ๆ อีก 2 โรง ที่รับเอาของเสียจากโรงงานนี้ไป

– อุบัตเหตุนี้ทำให้เกิดน้ำที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี มากถึง 40 ลูกบาศก์เมตร มีเถ้ากัมมันตรังสีเกิดขึ้นถึง 2 พันตัน และมีอุปกรณ์เครื่องมือที่ปนเปื้อนอีก 150 ตัน โดยมูลค่าของกระบวนการในการทำความสะอาด รวมถึงความสูญเสียการผลิตของโรงงานไป นั้นสูงถึง 26 ล้านเหรียญสหรัฐ (ณ ขณะนั้น)

ซีเซียม-137 เมฆกัมมันตรังสี
ที่มา: listverse.com

ขอบคุณข้อมูล อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์

baesittichot

นักเขียนสายฮาอารมณ์ดี ไลฟ์สไตล์ เรื่องน่ารู้ทั่วไป ตามติดเทรนด์ฮิตที่ห้ามพลาด อัปเดตข่าวเศรษฐกิจ การเงิน ประสบการณ์งานเขียนมากกว่า 1 ปี ชอบเม้าท์มอย ส่งต่อเรื่องราวน่าสนใจผ่านตัวอักษร ผลงานทุกชิ้นจึงเป็นเหมือน 'เพื่อน' ที่อยากเล่าสิ่ง ๆ ต่างให้คุณได้รู้เป็นคนแรกเสมอ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button