ความลับ 89 ปีเปิดเผย ใบหน้าแท้จริงของอนุสาวรีย์ “ย่าโม”
โซเชียลเปิดเอกสารโบราณ ตัวตนที่แท้จริง เจ้าของใบหน้าผู้เป็นแบบปั้นอนุสาวรีย์ยาโม่ โคราช ไม่มีใครรู้มากว่า 89 ปี
ควันหลงวันสตรีสากลวานนี้ หากพูดถึงบทบาทของฮีโร่ไทยในประวัติศาสตร์ น้อยนักจะเป็นสามัญชน ยิ่งเป็นหญิงสาวยิ่งน้อยลงไปอีก หนึ่งในวีรสตรีที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ไทยในฐานะมีส่วนช่วยสำคัญปกป้องบ้านเมืองจากภัยสงครามคือ ท้าวสุรนารี หรือ ย่าโม สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองชาวจังหวัดนครราชสีมา
ก่อนที่ย่าโมจะได้รับยกย่องในฐานะวีรสตรีกู้ชาติ ท่านคือ “โม” หญิงสาวชาวโคราชแต่กำเนิด มีชีวิตอยู่ตั้งแต่ ปีระกา พ.ศ. 2314 เป็นธิดาของนายกิ่มและนางบุญมา กระทั่งอายุได้ 25 ปี ได้แต่งงานกับ นายทองคำขาว ที่ต่อมาได้ เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “พระภักดีสุริยเดช” ตำแหน่งรองปลัดเมืองนครราชสีมา จนตำแหน่งสูงสุดที่ “พระยาสุริยเดช” ปลัดเมืองนครราชสีมา
ในฐานะภรรยาเคียงข้างกายจึงได้เลื่อนคำนำหน้านางจาก นางโม เป็นคุณนายโม คุณหญิงโม และสุดท้ายกลายเป็น ท่านผู้หญิงโม จากวีรกรรมอันห้าวหาญ
วีรกรรมของท่านไปที่เล่าขานจวบจนปัจจุบัน มาจากตอนที่กองทัพเจ้าอนุวงศ์ พระมหากษัตริย์เวียงจันทน์ ยกกองทัพเข้ามายึดเมืองนครราชสีมาเมื่อปี พ.ศ. 2369 หวังกบฎต่อกรุงเทพและรัชกาลที่ 3 ในตอนนั้นคุณหญิงโมและครอบครัวถูกต้อนไปเป็นเชลยรวมอยู่กับชาวโคราชอื่น ๆ
ในระหว่างถูกจับเป็นเชลย คุณหญิงมีส่วนสำคัญในการศึกจนเกิดเป็นตำนาน ณ ทุ่งสัมฤทธิ์ มอมเหล้าทหารในกองทัพจนคว้าชัยมาสำเร็จ
เมื่อความทราบถึงรัชกาลที่ 3 จึงได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาคุณหญิงโม ขึ้นเป็น ท้าวสุรนารี เมื่อ วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2370 เมื่อคุณหญิงโมมีอายุได้ 57 ปี พร้อมกับพระราชทานเครื่องยศ ถาดทองคำใส่เครื่องเชี่ยนหมาก 1 ใบ จอกหมากทองคำ 1 คู่ ตลับทองคำ 3 ใบเถา เต้าปูนทองคำ 1 ใบ คนโท และขันน้ำทองคำอย่างละ 1 ใบ
ที่มาอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม)
หลายขวบปีต่อมา คุณหญิงโมถึงแก่อสัญกรรม ขณะอายุได้ 81 ปี เดือนเมษายน พ.ศ. 2395 ข้าราชการและประชาชนจึงได้สร้างอนุสาวรีย์ “ท้าวสุรนารี” หล่อด้วยทองแดงรมดำสูง 185 เซนติเมตร หนัก 325 กิโลกรัม แต่งกายด้วยเครื่องยศพระราชทาน ท่ายืนมือขวากุมดาบ ปลายดาบจรดพื้น มือซ้ายท้าวสะเอว หันหน้าไปทางด้านทิศตะวันตก อันเป็นที่ตั้งของกรุงเทพมหานคร พร้อมบรรจุอัฐิของท่าน ไว้ที่ฐานไพทีสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง
อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี เป็นอนุสาวรีย์วีรสตรีสามัญชนคนแรกของประเทศ
แต่รู้หรือไม่ว่าอนุสาวรีย์ที่เราเห็นอยู่ปัจจุบันนี้ไม่ใช่ของแต่ดั้งเดิม เพราะองค์เก่าได้ทรุดโทรมพังลงตามกาลเวลา พระยากำธรพายัพทิศ (ดิส อินทรโสฬส) ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาในสมัยนั้น ได้ริเริ่มให้สร้างอนุสาวรีย์ย่าโมองค์ใหม่ กรมศิลปากรได้มอบหมายให้ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ออกแบบร่วมกับ พระเทวาภินิมมิตร (ฉาย เทียมศิลปไชย) เริ่มสร้างไปี 2476 และแล้วเสร็จมีพิธีเปิดใน 15 มกราคม พ.ศ. 2477
ผ่านเวลามา 89 ปี สถานที่แห่งนี้กลายเป็นแลนดมาร์กสำคัญของจังหวัดโคราช ใครที่เดินทางมาถึงก็จะต้องมาไหว้สักการะย่าโม ที่ถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองโคราชอยู่เสมอๆ
แล้วรู้หรือไม่ว่าภาพใบหน้าย่าโมที่เราคุ้นตานั้น มาจากบุคคลจริงที่ไม่ใช่ย่าโม
แน่นอนว่าในสมัยนั้นหลายร้อยปีก่อน ไม่มีนวัตกรรมกล้องถ่ายรูป กล้องที่สามารถบันทึกภาพคนลงแผ่นฟิล์มเข้ามาในไทยสมัยรัชกาลที่ 4 แบบที่อ.ศิลป์ ใช้ปั้นนั้นจึงไม่ใช่อิงจากหลักฐานภาพย่าโม แต่ปั้นมาจากคนจริง ๆ
ล่าสุด ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Tanin Soontranon ได้เผยแพร่เอกสารโบราณ ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2477 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่อนุสาวรีย์ย่าโมเปิดอย่างเป็นทางการ ข้อความในจดหมายตีความได้ว่าเหมือนกับใบเสร็จรับเงินในปัจจุบัน ลงลายมือชื่อผู้รับเงินว่า นางเชื่อม พร้อมรายละเอียดว่า
“ข้าพเจ้าผู้มีนามข้างท้ายนี้ ได้รับเงินค่าจ้างนั่งเป็นแบบสำหรับการปั้นรูปในการทำอนุสสาวรีย์ท้าวสุรนารี ของกองประณีตศิลปกรรม รวม 1 วัน เป็นเงิน 1 บาท (หนึ่งบาทถ้วน) ได้รับเงินจำนวนนี้ไปเสร็จแล้ว.