ร่วมจับตา อาการไข้หวัดนกกัมพูชา H5N1 คุณพ่อคุณแม่อย่าลืมเตรียมพร้อมวิธีป้องกัน แนะนำโดยกรมควบคุมโรค เพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์ล่าสุด ปี 2566 หลังมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคไข้หวัดนกในรอบ 9 ปีที่กัมพูชา รู้ไว้ปลอดภัยกว่า แม้ว่าโรคนี้จะยังไม่ระบาดเข้าสู่ประเทศไทยในขณะนี้ แต่การป้องกันไว้แต่ต้นย่อมดีกว่าการแก้ไขภายหลังแน่นอน
ไข้หวัดนกกัมพูชา ที่กำลังเฝ้าระวังเป็นโรคระบาดอยู่ในประเทศกัมพูชาขณะนี้ เป็นสายพันธุ์ H5N1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์เดียวกันโรคไข้หวัดนกซึ่งเคยระบาดในประเทศไทยมาก่อนหน้านี้ในปี พ.ศ. 2546 หรือประมาณ 10 ปีก่อน ก่อนจะหยุดการระบาดในปี พ.ศ. 2549 รวมมีผู้เสียชีวิตจากการระบาดครั้งนั้น 17 ราย
ปัจจุบันในปี 2566 ประเทศไทยยังไม่พบการรายงานผู้ป่วยไข้หวัดนกกัมพูชาแต่อย่างใด
โรคไข้หวัดนกคืออะไร
โรคไข้หวัดนก (Avian influenza หรือ Bird Flu) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ (Influenza A) เป็นเชื้อไวรัสที่พบได้ในสัตว์ปีก เช่น นก ไก่ เป็ด ห่าน รวมถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น หมู วาฬ สิงโตทะเล ไข้หวัดนกในสัตว์ปีกสามารถติดต่อมาสู่คนได้
ไวรัสมีหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งบางสายพันธุ์สามารถติดต่อสู่คนได้ เช่น H5 และ H7 พบได้ในสารคัดหลั่งจากจมูก ปาก ตา และมูลของสัตว์ปีก โดยระยะเวลาในการฟักตัวของเชื้อเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2–5 วัน แต่อาจยาวนานได้ถึง 17 วันหลังได้รับเชื้อ
ไข้หวัดนกติดต่อได้โดยการสัมผัสสัตว์ปีกที่มีเชื้อ รวมถึงการสัมผัสอุปกรณ์หรือสิ่งของที่อาจปนเปื้อนเชื้อ รวมถึงสิ่งคัดหลั่งที่ฟุ้งกระจายเป็นละอองฝอยในอากาศ อาจทำให้คนสามารถรับเชื้อผ่านทางการหายใจเอาสิ่งคัดหลั่งเหล่านั้นเข้าไปได้
รวมถึงผู้ที่สัมผัสเชื้อนำมือมาลูบจมูก ตา หรือปาก ก็เป็นสาเหตุการติดต่อของโรคได้เช่นกัน ส่วนการติดต่อระหว่างคนสู่คน ตามรายงานพบว่า มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยและอยู่ในวงจำกัดที่สัมผัสกันอย่างใกล้ชิดเท่านั้น
อาการไข้หวัดนก
สำหรับผู้ที่ติดเชื้อไข้หวัดนก จะมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ คัดจมูก ปวดเมื่อยตัว ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หายใจลำบาก โดยอาจพบอาการท้องเสีย อาเจียน ปวดท้อง หรือชักเกร็งร่วมด้วย
นอกจากนี้ยังมีอาการอื่น ๆ ที่พบได้ เช่น เยื่อบุตาขาวอักเสบอย่างอ่อน อาการทางเดินหายใจส่วนต้นคล้ายไข้หวัดใหญ่ จนถึงภาวะปอดอักเสบเสียชีวิต ซึ่งอัตราการป่วยตายจากโรคไข้หวัดนกอยู่ที่ร้อยละ 53
วิธีป้องกันโรคไข้หวัดนกระบาด
สำหรับประชาชนสามารถร่วมเฝ้าระวังการระบาด และป้องกันการติดเชื้อโรคนี้ได้ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
– พบแพทย์ทันที หากมีอาการไข้ ไอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย และ มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีก หรือผู้ป่วยปอดบวม ให้รีบพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติสัมผัสโรค หรือแจ้งประวัติการเดินทางทันที
– หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีก ที่มีอาการป่วยและตาย หากไปที่ตลาดค้าสัตว์ปีกมีชีวิต ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ รวมทั้งพื้นผิวที่สัตว์เหล่านั้นอยู่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค
– ห้ามนำสัตว์ปีกที่ป่วยตายไปรับประทาน หรือให้สัตว์อื่นกิน โดยให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทันที
– ป้องกัน หากต้องสัมผัสกับสัตว์ปีกในระยะที่มีการระบาดในพื้นที่ ให้สวมหน้ากากอนามัย และสวมถุงมือให้เรียบร้อย
– ปรุงให้สุกเท่านั้น รับประทานเนื้อไก่และไข่ที่ปรุงสุก หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ปีกหรือไข่ที่ยังไม่สุกดี
– ปฏิบัติตามหลักสุขอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ และทุกครั้งหลังการสัมผัสสัตว์ปีก รวมถึงสิ่งคัดหลั่งของสัตว์ปีกด้วยสบู่และน้ำ และใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ หลีกเลี่ยงการ สัมผัสใบหน้า จมูก ตา และปาก หรือหยิบจับอาหารรับประทานด้วยมือเปล่าหลังการสัมผัสสัตว์ปีกหรือ สิ่งแวดล้อมที่อาจปนเปื้อนเชื้อ
นอกจากนี้ยังสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร. 1422 ร่วมเป็นหูเป็นตาและป้องกันบ่อเกิดของโรคไว้จะดีที่สุด เพื่อสุขอนามัยที่ดีของตัวเราและลูกหลานของคุณ.
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมควบคุมโรค, กรมควบคุมโรค 2