ข่าวไลฟ์สไตล์

20 กุมภาพันธ์ ‘วันทนายความ’ ประวัติและความสำคัญ ที่มาของสภาทนายความ

อีกหนึ่งวันสำคัญในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ที่หลายคนอาจจะคาดไม่ถึงว่ามีวันนี้อยู่ด้วยก็คือ “วันทนายความ” หรือ “วันทนายความแห่งประเทศไทย” 20 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งเป็นวันที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อให้ประชาชนคนไทยได้มองเห็นความสำคัญของวิชาชีพทนายความ

อีกทั้งยังเป็นวันที่เหล่าอาชีพทนายความก็ต้องตระหนักถึงหน้าที่ของตนเอง ในการให้ความรู้และความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายแก่ประชาชน และในวันนี้เดอะไทยเกอร์ไลฟ์สไตล์ขอพาทุกคนมาทำความรู้จักประวัติและที่มาของวันทนายความไทย อีกหนึ่งวันสำคัญที่คนไทยอาจหลงลืมไป

ประวัติ ‘วันทนายความ’ 20 กุมภาพันธ์ 2566

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2500 เหล่าทนายความในประเทศไทยยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นทนายความอาวุโสหรือทนายความที่ยังเป็นหนุ่มสาว ต่างมีแนวคิดให้เหล่าทนายความมีองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นอิสระและดูแลกันเอง รวมถึงเป็นตัวแทนของเหล่าผู้ประกอบวิชาชีพทนายความในประเทศไทย จึงทำให้มีการประชุมหารือและก่อตั้ง “สภาทนายความแห่งประเทศไทย” ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์

หลังจากจดทะเบียนก่อตั้งสภาทนายความแห่งประเทศไทยขึ้นแล้ว เหล่าผู้ประกอบวิชาชีพทนายความก็ได้มีความพยายามในการผลักดันร่างกฎหมาย “พระราชบัญญัติทนายความ” กระทั่งประสบความสำเร็จและได้มีการประกาศใช้เป็นกฎหมายเมื่อปี พ.ศ. 2528 โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ลงพระปรมาภิไธยเมื่อวันที่ 10 กันยายน

ดังนั้นเหล่าผู้ประกอบอาชีพทนายความในประเทศไทย จึงถือเอาวันก่อตั้งสภาทนายความ 20 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันทนายความแห่งประเทศไทย เพื่อรำลึกถึงการการต่อสู้ของเหล่าทนายความไทยให้ได้มาซึ่งอิสระทางวิชาชีพทนายความ ที่สามารถจัดตั้งองค์กรควบคุมดูแลกันเองได้ตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 โดยไม่ขึ้นตรงต่องค์กรใดของภาครัฐและเอกชน

วันทนายความแห่งประเทศไทย

วัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง ‘สภาทนายความ’

หลายคนอาจมองว่าอาชีพทนาย หรือ ทนายความ มีหน้าที่ในการเป็นตัวแทนแก้ต่างให้คู่ความในเรื่องอรรถคดี (เรื่องที่ฟ้องร้องกันในศาล) ทว่าตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 การจัดตั้งสภาทนายความนั้นมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ 5 ประการ ดังต่อไปนี้

1. ส่งเสริมการศึกษาและการประกอบวิชาชีพทนายความ

2. ควบคุมมรรยาทของทนายความ

3. ส่งเสริมความสามัคคีและผดุงเกียรติของสมาชิกสภาทนายความ

4. ส่งเสริมและจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิกสภาทนายความ

5. ส่งเสริม ช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่ และให้การศึกษาแก่ประชาชนในเรื่องที่เกี่ยวกับกฎหมาย

นอกจากนี้สภาทนายความยังมีอำนาจหน้าที่ในการจดทะเบียนและออกใบอนุญาตประกอบอาชีพทนายความ รวมไปถึงดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสภาทนายความและตามอำนาจหน้าที่ซึ่งกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528

วันทนายความ 20 กุมภาพันธ์

ความสำคัญและหน้าที่ของอาชีพ ‘ทนายความ’

ในสังคมโลกยุคปัจจุบันผู้คนรวมตัวอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขเพราะมีการตรากฎหมายขึ้น ซึ่งกฎหมายนั้นถือว่าเป็นบรรทักฐานในการประพฤติปฏิบัติตนของคนในสังคม และยิ่งสังคมมีการวิวัฒนาการมากขึ้นเท่าไร การออกกฎหมายก็ยิ่งต้องรัดกุมและซับซ้อนมากขึ้นเท่านั้น

ดังนั้นผู้ที่จะมารับหน้าทีว่าความแก้ต่างให้กับประชาชนที่มีเรื่องฟ้องร้องกันในชั้นศาล จึงจำเป็นต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเกี่ยวกับข้อกฎหมายอย่างมาก จึงทำให้เกิดเป็น “อาชีพทนายความ” ขึ้นมา เพื่อเป็นตัวแทนแก้ต่างให้คู่ความหรือประชาชนในชั้นศาล เนื่องจากเป็นบุคคลที่ผ่านการฝึกอบรมและได้รับการรับรองทั้งในด้านทฤษฎีและปฏิบัติเกี่ยวกับข้อกฎหมายของประเทศ

นอกจากนี้ ด้วยภาษาทางกฎหมายที่มีความซับซ้อน เป็นวิชาการ จึงอาจทำให้ประชาชนทั่วไปทำความเข้าใจได้ยาก จึงต้องอาศัยทนายความผู้มีความเชี่ยวชาญในด้านกฎหมายเป็นผู้ให้ความรู้เกี่ยวกับข้อกฎหมายต่าง ๆ แก่ประชาชน และเป็นตัวแทนของประชาชนในการวิเคราะห์ พิจารณา และแสดงความคิดเห็นต่อการร่างบัญญัติข้อกฎหมายต่าง ๆ ในประเทศ

วันทนายความ 20 กุมภาพันธ์

จะเห็นได้ว่าอาชีพทนายความนั้นมีความสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนสังคมและประเทศชาติ ซึ่งเป็นวิชาชีพที่ต้องฝึกฝนทฤษฎีและปฏิบัติให้เกิดความเชี่ยวชาญ ใช่เพียงอ่านออกหรือเขียนได้ แต่ต้องมีความเข้าใจในตัวบทกฎหมายอย่างลึกซึ้งอีกด้วย ดังนั้นวันทนายความแห่งประเทศไทยนี้จึงถือเป็นหนึ่งในวันสำคัญที่คนไทยควรรู้จัก.

ขอบคุณข้อมูลจาก : 1 2

Mothana

นักเขียนข่าวที่ Thaiger การศึกษาทางด้านภาษา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเชี่ยวชาญด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จึงรับหน้าที่เขียนบทความไลฟ์สไตล์บันเทิง เศรษฐกิจ อยากเป็นสื่อกลางคอยขุดคุ้ยประเด็นตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงใหญ่โตมาเขียนให้ทุกคนได้อ่าน เพราะมีความเชื่อว่าสื่อที่ดีย่อมเป็นหนทางนำผู้อ่านไปสู่งานเขียนที่ดีได้ ติดต่อได้ทาง tangmo@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button