Queerbaiting คืออะไร เปิดความหมาย ที่มาคำศัพท์นี้ หนึ่งในเครื่องมือการตลาด วงการขายคู่จิ้น คู่วาย ที่ทำให้ตัวตน LGBTQ+ ถูกลบเลือน ความจริงเหลือเพียงความฟิน
ประเด็นร้อนวงการวาย หลังจากที่ มิว ศุภศิษฎ์ จงชีวีวัฒน์ หนึ่งในนักแสดงสายวายจากซีรีส์เรื่อง TharnType: The Series คู่จิ้นของ กลัฟ คณาวุฒิ ออกมาทวีตข้อความถึงวงการซีรีส์วายที่ขายความจิ้น จนทำให้แฟนคลับเชื่อ พร้อมเอ่ยถึงคำศัพท์ Queerbaiting คำใหม่สำหรับใครหลายคน
วันนี้ไทยเกอร์จึงขอชวนทุกคนมารู้จัก Queerbaiting คำ ๆ นี้คืออะไร บอกเลยว่ายิ่งวงการบ้านเรามีการขายคู่จิ้น สายวาย สายยูริ ยิ่งควรรู้ เพราะบางครั้งเบื้องหลังการนำเสนอ อาจไม่ได้ทำเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ แต่เป็นไปเพื่อเม็ดเงิน มาเรียนรู้ความหมายของศัพท์คำนี้ และสำรวจตัวเองกันว่าเราเคยเป็นส่วนหนึ่งของการตลาดรูปแบบนี้กันหรือไม่
Queerbaiting คืออะไร
Queerbaiting มาจากคำศัพท์ว่า Queer และ Clickbait หมายความว่า เทคนิคหนึ่งทางการตลาด ที่ใช้อัตลักษณ์ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ มาผลิตเป็นผลงานเพื่อความบันเทิง ดึงดูดความสนใจจากผู้ชม แต่นำเสนออย่างกำกวม เพราะไม่มีการยืนยันหรือระบุว่าตัวละครหรือเนื้อหาดังกล่าวเป็นกลุ่ม LGBTQ+ อย่างชัดเจน รวมถึงมีการใช้ความเป็นชายและหญิงครอบทับไว้อีกที
ลักษณะดังกล่าวของ Queerbaiting จึงเปรียบเหมือนเป็นการนำตัวตนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมาหากิน เพิ่มความแปลกใหม่ ดึงให้กลุ่ม LGBTQ+ รู้สึกว่าตนกำลังได้รับการยอมรับในสังคม รวมถึงรักษากลุ่มผู้ชมที่รังเกียจคนรักเพศเดียวกัน (Homophobic) แต่เนื้อแท้แล้วกลับเป็นการกดทับอัตลักษณ์ของบุคคลอยู่
Queerbaiting จึงถือเป็นปัญหาต่อตัวตนของกลุ่มเพศที่หลากหลาย เพราะเป็นการลบเลือนตัวตนที่แท้จริง ทำให้ภาพจำของ LGBTQ+ ในการรับรู้ของผู้ชมเป็นไปตามที่สื่อนำเสนอ ซึ่งอาจออกห่างจากความเป็นจริงก็ได้
ยกตัวอย่าง Queerbaiting ที่ปรากฏในสื่อบันเทิง เช่น
- ประโยคที่ตัวละครพูดว่า เราไม่ใช่ตุ๊ด กะเทย เลสเบี้ยน ทอม ดี้ แต่เราเป็นเพียงคนคนหนึ่งที่รักคนอีกคนเท่านั้น
- ซีรีส์วาย ซีรีส์ยูริ
- การขายคู่จิ้น
- Fan Service
สรุปได้ว่า Queerbaiting เป็นเครื่องมือที่ทำให้ LGBTQ+ ยังเป็นแค่ภาพจาง ๆ ในสังคม แม้ว่าสื่อบันเทิงของไทยในระยะหลัง ๆ มานี้จะเริ่มเปิดกว้างมากขึ้น แต่การนำเสนอซีรีส์วายส่วนใหญ่ อาจกลายเป็นดาบสองคม เพราะช่วยให้สังคมเห็นความรักหลากหลายรูปแบบ แต่ขณะเดียวกันก็กดทับกลุ่ม LGBTQ+ ด้วยการนำความเป็นชายและหญิงมาเป็นบรรทัดฐานอยู่ดี
ทั้งนี้การเสพสื่อขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้รับสาร ดังนั้นพวกเราในฐานะผู้ชม จึงควรเพิ่มความตระหนักรู้ให้มากขึ้น เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม และทำให้ความเท่าเทียมทางเพศเกิดขึ้นได้จริง.