6 วิธีดูแลสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5 ป้องกันตัวเอง ในช่วงวิกฤติหมอกควัน
ในช่วงตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ฝุ่น PM 2.5 มีระดับพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วอีกครั้ง โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจ ตา และผิวหนัง เราควรดูแลสุขภาพตัวเองอย่างไรให้ปลอดภัยจากฝุ่น PM 2.5 วันนี้ทีมงาน The Thaiger จะมานำเสนอ วิธีดูแลสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5 ให้ทุกคนได้รู้กัน ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันได้เลยค่ะ
PM 2.5 คืออะไร อันตรายแค่ไหน
ฝุ่น PM 2.5 คือฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยมีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือมีขนาดประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผม ด้วยขนาดที่เล็กมากทำให้ฝุ่นชนิดนี้สามารถหลุดรอดจากการกรองของจมูก และยังสามารถผ่านไปยังถุงลมปอดได้เมื่อหายใจเข้าไป เป็นเหตุให้เกิดปัญหาระบบทางเดินหายใจในเวลาต่อมา และยังสามารถกระจายไปทั่วร่างกายได้อีกด้วย นอกจากนี้ในฝุ่น PM 2.5 ยังพบสารก่อมะเร็ง และโลหะหนักที่เป็นอันตรายอยู่ รวมถึงสภาพความกดอากาศต่ำ ทำให้การเคลื่อนย้ายของฝุ่นไม่สามารถถ่ายเทออกไปได้ง่าย
วิธีดูแลสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5
หากสูดดมฝุ่นละออง PM 2.5 เข้าไปในปริมาณที่มากอาจส่งผลเสียต่อร่างกายไม่มากก็น้อย แต่ละวันที่เราต้องเผชิญและสูดดมหายใจเข้าไป ส่งผลเสียต่อร่างกายเป็นอย่างมาก หากสังเกตว่าเรามีอาการแพ้ฝุ่นหรืออยากรู้วิธีป้องกันและดูแลตัวเองจากละอองฝุ่นดังกล่าว สามารถปฏิบัติตามได้ใน 6 วิธี ดังนี้
1. ใส่หน้ากากประเภทที่สามารถกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 0.3 ไมครอนได้
การใส่หน้ากากที่มีประสิทธิภาพสูง จะช่วยป้องกันเชื้อโรคที่มีอนุภาคขนาดเล็ก 0.3 ไมครอนได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการสวมหน้ากาก N95 หรือหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ก่อนออกนอกอาคาร เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงและยังช่วยดูแลสุขภาพในระยะยาวจากฝุ่น PM 2.5 ได้
2. หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้ง
การเดินทางกลางแจ้งส่งผลให้เราสัมผัสละอองฝุ่นได้โดยตรง ควรหลีกเลี่ยงการออกจากบ้านหากไม่จำเป็น และงดออกกำลังกายกลางแจ้งเพราะอาจสูดเอาฝุ่น PM 2.5 เข้าสู่ทางเดินหายใจและปอดได้มากกว่าเดิม พยายามอยู่บ้านหรือภายในอาคารที่ปิดมิดชิด อาจใช้เครื่องปรับอากาศภายในบ้านแม้อุณภูมิภายนอกไม่สูง หรือปิดหน้าต่างให้มิดชิดในช่วงที่มีมลพิษสูง บางกรณีอาจใช้เครื่องฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพเพื่อช่วยกรองอนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็ก
3. ตรวจสอบคุณภาพอากาศ (Air Quality Index) เป็นประจำ
การตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกจากบ้านอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยทำให้เราสามารถรู้ได้ว่าในบริเวณพื้นที่อาศัยของเรามีค่ามลภาวะทางอากาศสูงมากน้อยเพียงใด หากค่า PM 2.5 อยู่ในระดับสีเหลือง-ส้ม ควรลดหรืองดกิจกรรมกลางแจ้ง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับทางเดินหายใจโดยตรง
4. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้ง
การออกกำลังกายกลางแจ้งอาจสูดเอาฝุ่น PM 2.5 เข้าสู่ทางเดินหายใจและปอดได้มากกว่าเดิม หากจำเป็นต้องทำกิจกรรมนอกบ้านให้สวมหน้ากากป้องกันไว้ สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวควรเฝ้าระวังอาการผิดปกติ หากมีอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก ใจสั่น ควรรีบพบแพทย์ในทันที
5. ใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดร่างกายมิดชิด
การสวมใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด จะช่วยให้ร่างกายของเราไม่ได้รับฝุ่นละอองโดยตรง อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ป่วยกลุ่มภูมิแพ้ผิวหนัง ควรและหลังจากกลับเข้ามาภายในอาคารควรเปลี่ยนเสื้อผ้า ชำระล้างร่างกายให้เรียบร้อยทันที เพื่อไม่ให้เกิดอาการแพ้ หากมีอาการแพ้ หรือคันตามเนื้อตามตัว ควรอาบน้ำให้สะอาดอีกครั้งแล้วกินยาแก้แพ้ตามอาการ
6. ล้างจมูกเป็นประจำ
หากมีอาการคันจมูก ให้ล้างจมูกเป็นประจำ เพื่อลดปริมาณฝุ่นในทางเดินหายใจส่วนบนและสารก่อภูมิแพ้ รวมถึงลดการระคายเคืองจากการสูดดมฝุ่นเข้าไปในปริมาณมาก สำหรับผู้ป่วยกลุ่มโรคภูมิแพ้โพรงจมูกอักเสบและหอบหืด ควรใช้ยาสูดทางปากและยาพ่นจมูกต่อเนื่อง หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้
ทั้งนี้ หากมีอาการผิดปกติที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น แน่นหน้าอกหรือเจ็บท้องใต้ลิ้นปี่เหมือนมีของหนักกดทับ หายใจหอบผิดปกติ ปวดมึนศีรษะ อ่อนแรงที่ใบหน้า เป็นต้น ให้รีบพบแพทย์ในทันที สำหรับคำแนะนำดังกล่าวข้างต้น อาจเป็นอุปสรรคต่อคนที่ต้องทำงานหรือจำเป็นต้องใช้ชีวิตอยู่กลางแจ้งเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม สามารถดูแลตัวเองได้วิธีข้างต้น โดยเฉพาะการสวมใส่หน้ากาก N95 หรือหน้ากากทางการแพทย์ เพื่อป้องกันตัวเองจากมลภาวะที่เกิดขึ้น
ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย