ไลฟ์สไตล์

‘วันทหารผ่านศึก’ 2566 ระลึกวีระชนทหารกล้า ในสงครามโลกครั้งที่ 2

ชวนรู้จัก วันทหารผ่านศึก อีกหนึ่งวันสำคัญของชาวไทย ระลึกวีรกรรมเหล่าทหารหาญในสมรภูมิสงครามโลกครั้งที่ 2 กับการเสียสละชีพเพื่อประเทศชาติอย่างสมเกียรติ

วันทหารผ่านศึก ตรงกับวันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 โดยยึดการประกาศราชกิจจานุเบกษาจัดตั้งองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก เพื่อดูแลเรื่องสวัสดิการแก่ทหารที่ปลดประจำการหลังสงคราม ซึ่งในปัจจุบันกิจกรรมวันทหารผ่านศึกของทุกปี มีการจัดงานทั่วทั้งประเทศ เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของเหล่าทหาร และเคารพในความกล้าหาญของทหารในยามสงคราม

วันนี้ทีมงาน The Thaiger ได้รวบรวมข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับวันทหารผ่านศึกให้ทุกคนได้รู้จักกัน จะมีเรื่องไหนน่าสนใจบ้าง ถ้าพร้อมแล้วเข้ามาอ่านในนี้กันได้เลย

ประวัติวันทหารผ่านศึก

ภายหลังที่สงครามโลกครั้งที่ 2 หรือสงครามมหาเอเชียบูรพาสิ้นสุดลง ทหารไทยจำนวนมากถูกปลดประจำการทหาร สังคมเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างต่อเนื่องจากภาวะสงคราม รัฐบาลในขณะนั้นได้มอบหมายให้กระทรวงกลาโหม เป็นผู้พิจารณาดำเนินการช่วยเหลือทหารผ่านศึก

ต่อมาในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2491 กระทรวงกลาโหมได้เสนอพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกขึ้น ผ่านการเห็นชอบจากรัฐบาล และได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา พ.ร.บ. องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา วันที่ 3 กุมภาพันธ์ของทุกปี จึงเป็น วันทหารผ่านศึก (The Thai Veterans Day) เพื่อสดุดีวีรกรรมของทหารผ่านศึก อีกทั้งให้หน่วยงานราชการและเอกชน รวมถึงประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมในการส่งเสริมเชิดชูเกียรติและเอื้ออาทรต่อทหารผ่านศึก

วันทหารผ่านศึก
ภาพจาก Facebook Page : กองพันย่าโม

จากองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกสู่องค์การเพื่อการกุศล

องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกได้จัดตั้งขึ้นในปี 2491 เพื่อให้ความช่วยเหลือทหารและครอบครัวเรื่อยมา จนกระทั่งในปี 2510 สภาทหารผ่านศึก สภากลาโหม และรัฐบาล ได้พิจารณาปรับปรุง พระราชบัญญิติองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก เพื่อขยายการสงเคราะห์ครอบคลุมไปถึงทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือนและพลเรือน ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคง

จนกระทั่งเดือนสิงหาคม 2511 กลุ่มภริยานายทหารชั้นผู้ใหญ่ นำโดย ท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร เป็นประธานร่วมกันจัดตั้ง สโมสรสงเคราะห์ครอบครับทหารผ่านศึก และ จอมพลถนอม กิตติขจร ได้มอบเงินบริจาคจำนวน 300,000 บาท หลังจากนั้นสโมสรก็ได้ีรับเงินบริจาคมาเรื่อย ๆ และคณะกรรมการก็ได้หาวิธีหารายได้ด้วยการจำหน่ายดอกป๊อปปี้

ต่อมาในปี 2512 ‘สโมสรสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึก’ ได้ยกระดับเป็น ‘มูลนิธิสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึก’ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคึณจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี รับเป็นองค์อุปถัมภ์มูลนิธิฯ เพื่อจำหน่ายดอกป๊อปปี้ให้ทั่วถึงมากขึ้น ทำให้ดอกป๊อปปี้ถูกเรียกว่าเป็น ดอกไม้ที่ระลึกวันทหารผ่านศึก

กิจกรรมวันทหารผ่านศึก ทำอะไรบ้าง

งานวันทหารผ่านศึก ที่จัดมาต่อเนื่องยาวนาน องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกได้กำหนดให้มีพิธีและกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีและความเสียสละของเหล่าทหารผ่านศึกในยามสงคราม โดยในช่วงระหว่างวันที่ 28 มกราคม – 3 กุมภาพันธ์ จะเป็นการประกอบพิธีทางศาสนา รวมทั้งพิธีบวงสรวงศาลหลักเมือง และในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ จะมีพิธีวางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และพิธีสวนสนามสดุดีทหารผ่านศึก ณ ลานเอนกประสงค์ กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์

นอกจากนี้ ทางมูลนิธิสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึก ได้มีการจำหน่ายดอกป๊อปปี้ เพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือทหารผ่านศึก รวมถึงนำสินค้าของทหารมาจำหน่ายกับประชาชน นอกจากนี้ยังมีการจัดงานรำลึกทั่วประเทศ และจัดนิทรรศการเผยแพร่วีรกรรมของเหล่าทหารกล้า เพื่อเชิดชูเกียรติ ยกย่อง และเคารพในความกล้าหาญ ที่เหล่าทหารสามารถปกป้องผืนแผ่นดินไทยในยามสงครามไว้ให้

3 กุมภาพันธ์ 2566 วันทหารผ่านศึก
ภาพจากเว็บไซต์ : องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์
3 กุมภาพันธ์ วันทหารผ่านศึก
ภาพจาก Facebook Page : กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 8

ขอบคุณข้อมูลจาก องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก

Wilasinee

นักเขียนที่ Thaiger เชี่ยวชาญข่าวบันเทิงและบทความไลฟ์สไตล์ จบการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จึงรู้ลึกรู้จริงทั้งเรื่องวิชาการและเทรนด์กระแสโซเชียลที่สำคัญ มีประสบการณ์เขียนบทความออนไลน์กว่า 2 ปี งานอดิเรกชอบติดตามข่าวเศรษฐกิจ การลงทุน ติดต่อได้ที่ wilasinee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button