ข่าวข่าวภูมิภาค

รองคณบดี แจงกรณี อาจารย์รามา ให้ นร. มีชื่อในงานวิจัย แลกความสัมพันธ์

ดร. น.พ.นวนรรน รองคณบดีฝ่ายปฏิบัติการ แจงหลังมีกระแสข่าวในทวิตเตอร์ว่า มีอาจารย์หมอรามาธิบดี ให้ นักศึกษามีชื่อในงานวิจัย แลกความสัมพันธ์ ยืนยัน งานวิจัย และอาจารย์คนดังกล่าวไม่ได้อยู่ในคณะแพทย์ฯ รามาธิบดี

ดร. น.พ.นวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์ รองคณบดีฝ่ายปฏิบัติการ และอาจารย์ ภาควิชาระบาดวิทยาคลินิกและชีวสถิติ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาล รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความเฟซบุ๊กชี้แจงหลังจากที่มีกระแสข่าวว่า อาจารย์แพทย์ของภาควิชาหนึ่งในรามาธิบดี ยอมให้นักเรียนคนหนึ่ง และต่อมายอมให้นักศึกษาแพทย์อีกคนหนึ่ง ได้เป็น first author หรือ co-author ในงานวิจัยของตน เพื่อแลกกับความสัมพันธ์นั้น

ดร. น.พ.นวนรรน ชี้แจงดังนี้ “1. “อาจารย์แพทย์” ที่ถูกกล่าวถึง ไม่ใช่อาจารย์หรือบุคลากรของรามาธิบดี เป็นบุคคลภายนอก มีบางภาควิชาเคยเชิญมาสอนเป็นวิทยากรเป็นครั้งคราวในบางหัวข้อ (ไม่เคยบรรจุหรือแต่งตั้งเข้าทำงานเป็นตำแหน่งอะไรในคณะฯ ครับ) แต่ไม่ได้สอนนักศึกษาแพทย์ที่ถูกกล่าวถึงครับ และเมื่อได้ทราบว่ามีข้อมูลเช่นนี้ หากมีมูล หน่วยงานในคณะฯ ก็จะไม่เชิญมาสอนในคณะฯ อีกครับ

2. งานวิจัยที่ทำร่วมกับ นศพ. ที่ถูกกล่าวถึง ไม่ได้เป็นงานวิจัยของรามาธิบดี ไม่ได้เป็นงานวิจัยของบุคลากรรามาธิบดี ไม่ได้รับทุนจากรามาธิบดี และไม่ได้ใช้ข้อมูลหรือทรัพยากรของรามาธิบดีในการทำวิจัย

แต่อาจารย์แพทย์ท่านนี้ใส่ affiliation ตอนตีพิมพ์บทความหลาย ๆ บทความ ว่าตนอยู่สังกัดภาควิชาหนึ่งของรามาธิบดี ซึ่งไม่เป็นความจริง และผลงานดังกล่าวไม่เกี่ยวกับงานวิจัยของภาควิชาหรือรามาธิบดีแต่อย่างใด ซึ่งทางภาควิชาได้สื่อสารกับอาจารย์แพทย์ท่านนี้แล้วว่าไม่ให้ใช้ affiliation ที่ไม่ถูกต้องเช่นนี้อีก

3. กรณีนักศึกษาแพทย์มีความสัมพันธ์กับอาจารย์แพทย์ท่านนี้หรือไม่ คงเป็นเรื่องส่วนตัวครับ แต่ไม่ว่าเรื่องนี้จะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ทางเราคงจะต้องเพิ่มการดูแลปกป้องนักศึกษาทั้งในเรื่องจิตใจ และการดูแลนักศึกษาไม่ให้ถูกฉวยโอกาส และช่วยส่งเสริมให้ นศพ. มีจริยธรรมในเรื่องการวิจัยและการ claim ผลงานทางวิชาการให้ดีขึ้น

4. เรื่องแรงกดดันในการทำวิจัย ต่อการสมัครรอบ portfolio ผมเชื่อว่าผู้บริหารด้านการศึกษาของคณะฯ ตระหนักในเรื่องความสำคัญของการวิเคราะห์ข้อมูลใน portfolio ของนักศึกษาที่สมัคร เพื่อให้ได้สิ่งที่สะท้อนนักศึกษาอย่างแท้จริงเท่าที่ทำได้ และให้ความสำคัญกับความเป็นธรรมในการพิจารณา

ในแต่ละปีก็จะมีการพิจารณาทบทวนแนวทางการพิจารณาในปีนั้น ๆ โดยคำนึงถึงความเป็นธรรมและประโยชน์ของผู้สมัครเป็นสำคัญครับ ซึ่งประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละปีก็จะช่วยเป็น feedback loop เช่น การพยายามสร้างสมดุลของ influence ของคุณสมบัติทางวิชาการ (รวมทั้งงานวิจัย) กับคุณสมบัติด้านอื่น ๆ ครับ

สรุปคือสิ่งที่เป็นประเด็นหลักไม่ได้เป็นการกระทำของคนในรามาธิบดีครับ แต่ประเด็นที่เกี่ยวเนื่อง ทางเราก็จะรับมาทบทวนปรับปรุงพัฒนาต่อไปครับ ขอบคุณทุกฝ่ายที่ห่วงใย ผมคิดว่าเราเห็นตรงกันในเรื่องความสำคัญของ academic integrity และ ethical conduct ซึ่งรามาธิบดีก็ให้ความสำคัญครับ

ความเห็นนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผมครับ ไม่ใช่ความเห็นทางการของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี”

Nateetorn S.

ผู้สื่อข่าว ทำงานกับ Thaiger มาตั้งแต่ปี 2020 จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสคร์ เคยทำงานกับสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ของประเทศ ทำให้มประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ เจาะประเด็นข่าวการเมืองอาชญากรรม ข่าวแปลกๆ เรื่องน่าสนใจจากต่างประเทศ ช่องทางติดต่อ tee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button