ข่าวภูมิภาค

ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับอาเซียนเพื่อลดปริมาณขยะทะเล ชื่นชมรัฐบาลไทยจริงจังในการจัดการปัญหาขยะทะเล

เมื่อเวลา 09.30 น. วันนี้ (22พ.ย.) ที่ห้องประชุมโรงแรม เจดับบลิว แมริออท ภูเก็ต รีสอร์ท แอนด์สปา อ.ถลาง จ.ภูเก็ต กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติประเทศไทย (IUCN) จัดการประชุมระดับอาเซียน เรื่อง การลดปริมาณขยะในทะเลในกลุ่มอาเซียน (ASEAN conference on Reducing Marine Debris in ASEAN Region 2017 เพื่อหาแนวทางและมาตรการร่วมกันในการลดปริมาณขยะลงทะเลในกลุ่มประเทศอาเซียน อีกทั้งยังเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เรื่องขยะทะเลให้เป็นที่รับทราบ และเกิดการขับเคลื่อนร่วมกันในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยมี นายวงศ์เทพ อรรถไกวัลวที รองเลขาธิการอาเซียนด้านประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน และ พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีเปิดครั้งนี้ และมี ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสนิท ศรีวิหค รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดี กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตัวแทนจากสมาชิกกลุ่มอาเซียน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ นักวิชาการ นิสิต นักศึกษา ตลอดจน ประชาชน เข้าร่วมกว่า 200 คน

พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวว่า ขยะทะเล กลายเป็นประเด็นสำคัญระดับโลก ที่องค์การสหประชาชาติกำลังให้ความสำคัญ เพราะได้กำหนดให้การจัดการทรัพยากรทางทะเลเป็น 1 ใน 17 เป้าหมายของวาระ การพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ เนื่องจาก ทะเลทั่วโลกที่เปรียบเสมือนขุมทรัพย์ ที่ต่างคนต่างตักตวงใช้โดยไม่คำนึงผลที่เกิดขึ้น ในระยะยาว กำลังเผชิญกับขยะ ที่ล่องลอยจากแผ่นดินออกสู่ทะเล และจากฝั่งออกสู่ท้องทะเล รวมทั้งกิจกรรมในทะเล โดยเฉพาะขยะพลาสติกได้สร้างปัญหามากมาย ขยะพลาสติกขนาดใหญ่ เช่น แห อวน หรือซากสิ่งของ เป็นสาเหตุที่ทำให้สัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ บาดเจ็บหรือเสียชีวิต สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศ โดยทำให้แนวปะการังและพื้นท้องทะเลเสื่อมโทรม ทำลายทัศนียภาพของชายหาด ส่งผลต่อการประมง และการท่องเที่ยวของหลายประเทศ


พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ขยะทะเลที่ย่อยสลายเป็นชิ้นเล็กๆ จนมองแทบไม่เห็นหรือที่เรียกว่า “ไมโครพลาสติก” ได้ผ่านเข้าสู่ระบบห่วงโซ่อาหารสัตว์ในทะเลและผ่านจากอาหารทะเลสู่มนุษย์ ส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์ในระยะยาว การแก้ปัญหาขยะทะเลจึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทย โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) จึงได้คิดริเริ่มที่จะแก้ปัญหาทั้งนี้เพราะขยะทะเล เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนที่มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์และเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก ประเทศในอาเชียน ต่างก็กำลังประสบปัญหาและเผชิญกับความท้าทายร่วมกันจึงได้หารือกับสำนักเลขาธิการอาเชียนในการริเริ่มสร้างความร่วมมือร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว การจัดการประชุมระดับอาเซียน เรื่อง การลดปริมาณขยะทะเลในกลุ่มประเทศอาเซียน หรือ ASEAN Conference on Reducing Marine Debris in ASEAN Region จึงเกิดขึ้น โดยกระทรวงทรัพยากรฯ มอบให้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) รับผิดชอบ

“การที่ประเทศไทยริเริ่มจัดการประชุม เรื่อง การลดปริมาณขยะทะเลในกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อให้ประเทศอาเชียน ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และร่วมกันกำหนดแนวทางในการจัดการปัญหาขยะทะเลเพื่อเป็นกรอบในการจัดการแก้ไขปัญหาร่วมกันในภูมิภาคอาเชียน เพราะขณะนี้หลายๆ ประเทศได้ให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหาขยะทะเล อาทิ จีน เพิ่งจัดการประชุมการจัดการขยะทะเลในเขตเมืองชายฝั่งในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก ไปเมื่อช่วงต้นเดือน พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ขณะที่อินโดนีเชีย อยู่ระหว่างเตรียมงานจัดการประชุมเกี่ยวกับเรื่องขยะทะเลเช่นกัน สำหรับประเทศไทย จากการศึกษาเกี่ยวกับปัญหาขยะทะเลพบว่า ร้อยละ 80 ของขยะทะเลมาจากบนบก ส่วนขยะจากกิจกรรมทางทะเล มีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น ดังนั้น การจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง” พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าว

พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการแก้ปัญหาขยะ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์โอชา ได้ให้ความสำคัญโดยกำหนดให้ปัญหาขยะเป็นวาระแห่งชาติ โดยเน้นจัดการ ขยะตกค้าง 30ล้านตัน ให้หมดไป และจัดการขยะใหม่ ปีละ 27 ล้านตัน ต้องลดที่ต้นทาง นำมาใช้ซ้ำและนำกลับมาใช้ใหม่ ทั้งนี้ในปี 2561 ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม 3Rs Forum ในกลุ่มประเทศเอชีย – แปซิฟิก รวมทั้งการออกกฎหมายและการสร้างวินัยคนในชาติ ขณะที่ กระทรวงทรัพยากรฯ ยังร่วมมือกับทุกภาคและภาคเอกชน ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันพลาสติก ผลักดันการขับเคลื่อนแผนการจัดการพลาสติก ขยะพลาสติก โดยเน้นหลักการบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พลาสติกชีวภาพ ผลิตภัณฑ์ทดแทนพลาสติก รีไซเคิ้ลพลาสติก นอกจากนี้ ยังร่วมกับภาคเอกชนที่ผลิตน้ำดื่ม การลดและเลิกใช้ cap seal หรือพลาสติกที่หุ้มฝาขวด โดยข้อมูลในปี 2559 พบว่ามีน้ำดื่มที่ใช้ cap seal ถึง 2,600 ล้านขวด/ชิ้น

พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับเรื่องขยะทะเล กระทรวงทรัพยากรฯ กำหนดให้เขตอุทยานแห่งชาติทางทะเลทุกแห่งปลอดจากถุงพลาสติก และเมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา ได้เริ่มโครงการนำร่องกับหน่วยงานใน 15 จังหวัดชายฝั่งทะเล กำหนดพื้นที่ชายหาด 24 แห่ง ให้เป็นชายหาดปลอดจากการสูบบุหรี่และทิ้งก้นบุหรี่และขยะอื่นๆ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button