ข่าวไลฟ์สไตล์

รู้จัก “วันกีฬาแห่งชาติ” 16 ธันวาคม ยกย่องคนกีฬา วันทรงคุณค่าของชาวไทย

ชวนรู้จัก “วันกีฬาแห่งชาติ” 16 ธันวาคมของทุกปี เพื่อระลึกถึงพระปรีชาสามารถด้านกีฬาของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 และส่งเสริมให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของวงการกีฬาในการสร้างเสริมสุขภาพและจิตสำนึก รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย มีความสามัคคีให้แก่กัน

ประวัติวันกีฬาแห่งชาติ 16 ธันวาคม

เปิดประวัติ “วันกีฬาแห่งชาติ” ปีนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม 2565 ก่อตั้งขึ้นเพื่อระลึกถึง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงแสดงพระปรีชาสามารถทางด้านกีฬา ด้วยการชนะเลิศได้รับเหรียญทองร่วมกับทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ในการแข่งขันเรือใบ กีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 ที่จัดขึ้นในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 4 – 16 ธันวาคม พ.ศ. 2510 โดยทรงได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันเรือใบประเภท โอ.เค. ซึ่งนับได้ว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญในวงการกีฬาที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับชาวไทยมาจนถึงทุกวันนี้

หลังจากนั้นในในการประชุมใหญ่คณะกรรมการโอลิมปิกสากลครั้งที่ 29 ณ เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี โดยมีนายฮวน อันโตนีโอ ซามาร้านซ์ ประธานคณะโอลิมปิกสากล เป็นประธานการประชุมพร้อมทั้งสมาชิกเข้าร่วมประชุมอีก 87 ประเทศที่เข้าร่วม ได้ลงมติเอกฉันท์ให้ทูลเกล้าฯถวายเหรียญดุษฎีกิตติมศักดิ์ ของโอลิมปิกสากล คือ “อิสรยาภรณ์โอลิมปิกชั้นสูงสุด” (ทอง) แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) เมื่อวันที่ 14 ธันวามคม พ.ศ. 2530 ณ ศาลาดุสิตาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

จากเหตุการณ์ในครั้งนี้จึงทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลก ที่ทรงได้รับการทูลเกล้าฯถวายเหรียญโอลิมปิกชั้นสูง สมควรที่นักกีฬาและประชาชนชาวไทยควรที่จะเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท ในเวลาต่อมา การกีฬาแห่งประเทศไทยจึงได้มีมตินำเสนอคณะรัฐมนตรีลงความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2529 กำหนดให้ วันที่ 16 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวัน “วันกีฬาแห่งชาติ” เป็นต้นมา

วันกีฬาแห่งชาติ 16 ธันวาคม เรือใบ

ความเป็นมากิจกรรม “กีฬาแห่งชาติ”

เดิมใช้ชื่อว่า “กีฬาเขตแห่งประเทศไทย” ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น “กีฬาแห่งชาติ” ริเริ่มขึ้นพร้อมกับการ ก่อตั้ง “องค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย” ซึ่งได้วางโครงการที่จะขยายการส่งเสริมกีฬาออกไปให้ทั่วราชอาณาจักรด้วยการ จัดการแข่งขันระหว่างจังหวัดภายในภาคต่างๆ ของประเทศขึ้นพร้อมกัน โดยการแข่งขันครั้งแรก แบ่งกลุ่มนักกีฬาออกเป็น 5 เขตจากภูมิภาคต่างๆ คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้

จุดประสงค์ในการจัดงานวันกีฬาแห่งชาติ

กิจกรรมงานวันกีฬาแห่งชาติ จัดขึ้นทุกวันที่ 16 ธันวาคมของทุกปี เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและน้อมระลึกถึงพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ในฐานะที่เคยเป็นนักกีฬาทีมชาติไทย โดยเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 ณ กรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2510 และทรงได้รับเหรียญทองจากการแข่งขันแรือใบประเภท โอ.เค.

อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยเห็นความสำคัญและคุณค่าของการกีฬา การออกกำลังกาย และมีส่วนร่วมในกิจกรรมกีฬามากยิ่งขึ้น ตลอดจนการชักจูงให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกีฬาทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนหน่วยงานต่าง ๆ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเล่นกีฬา และให้การสนับสนุนการกีฬา

นอกจากนี้ยังเป็นการจัดหาทุนในการส่งเสริมและดำเนินกิจกรรมกีฬาของชาติ และเพื่อเป็นจุดศูนย์รวมการคืนสู่เหย้าของนักกีฬาในอดีตและปัจจุบันงานวันกีฬาแห่งชาติ ซึ่งจัดโดยการกีฬาแห่งประเทศไทย จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีนั่นเอง

วันกีฬาแห่งชาติ 16 ธันวาคม ร9

กิจกรรมงานวันกีฬาแห่งชาติ วันที่ 16 ธันวาคม 2565

กกท. จัดยิ่งใหญ่งานเกียรติยศคนกีฬา มอบรางวัลนักกีฬา บุคลากร และ สมาคมกีฬาดีเด่นแห่งปี พร้อมชูวิสัยทัศน์การพัฒนากีฬาสู่ความยั่งยืนในทุกมิติ เนื่องในวันกีฬาแห่งชาติ 2565

เนื่องในวันที่ 16 ธันวาคมของทุกปี ถือเป็นวันกีฬาแห่งชาติ มีขึ้นเพื่อน้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเพื่อสืบสานพระราชปณิธานด้านกีฬาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงเป็นต้นแบบจากการทรงกีฬามาตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ซึ่งการจัดงานครั้งนี้เป็นครั้งที่ 36 ภายในงานจัดให้มีการมอบรางวัลนักกีฬาดีเด่น บุคลากรทางการกีฬาดีเด่น องค์กรกีฬาดีเด่นแห่งปีกว่า 39 รางวัล

ดร. ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้กำหนดให้วันที่ 16 ธันวาคม ของทุกปีเป็น “วันกีฬาแห่งชาติ” เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงชนะเลิศการแข่งขันเรือใบประเภท โอ.เค. ในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2510

ซึ่งถือเป็นวันประวัติศาสตร์ทางการกีฬาของประเทศไทย และเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงสืบสานพระราชปณิธานด้านกีฬาของประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง

การจัดงานประกาศเกียรติคุณนักกีฬาดีเด่น เนื่องในวันกีฬาแห่งชาติ ปี 2565 ถือเป็นครั้งที่ 36 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการกีฬาแห่งประเทศไทย และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ร่วมกันจัดขึ้น เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติ ขอบคุณ และให้กำลังใจ นักกีฬา บุคลากร และสมาคม กีฬาที่ได้สร้างผลงานอันทรงคุณค่า และสร้างชื่อเสียงจนเป็นที่ประจักษ์นำความภาคภูมิใจมาสู่ประเทศไทยตลอดทั้งปี 2565 และการจัดงานครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “การพัฒนากีฬาสู่ความยั่งยืน” (Sports Make Sustainability)

ซึ่งการกีฬาแห่งประเทศไทยตระหนักและให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนกีฬาที่ต้องสร้างความสมดุลทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ควบคู่ไปกับการเป็น ส่วนหนึ่งในการดำรงไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมที่ดีตามกรอบนโยบายเศรษฐกิจใหม่ BCG Model ของรัฐบาล

สำหรับการพิจารณารางวัล จะพิจารณาโดยคณะอนุกรรมการพิจารณาคัดเลือกผู้รับรางวัลด้านกีฬาดีเด่น วันกีฬาแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2565 ประกอบด้วยรางวัลดีเด่นระดับประเทศ รวม 39 รางวัล โดยการกีฬาแห่งประเทศไทยจะได้มีการทูลเกล้าขอพระราชทานถ้วยรางวัลจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อพระราชทานแก่นักกีฬาสมัครเล่น นักกีฬาเยาวชน นักกีฬาอาชีพ นักกีฬาคนพิการ นักกีฬามวยไทยอาชีพดีเด่นทั้งชายและหญิง รวมจำนวนทั้งสิ้น 10 รางวัล รวมถึงการพิจารณารางวัลดีเด่นระดับสมาคมกีฬาแห่งจังหวัด และสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย รวมกว่า 215 รางวัล

ซึ่งการจัดงานประกาศเกียรติคุณนักกีฬาดีเด่น เนื่องในวันกีฬาแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2565 นี้ ได้รับเกียรติจากท่านพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานในการมอบรางวัลให้แก่นักกีฬา บุคลากรกีฬา และสมาคมกีฬาดีเด่น ในวันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม 2565 ณ อินดอร์สเตเดียม หัวหมาก การกีฬาแห่งประเทศไทย ตั้งแต่เวลา 11.00 น. เป็นต้นไป โดยจะมีการถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์และสตรีมมิ่งช่อง “T Sports 7”

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการตระหนักถึงความสำคัญของกีฬาอย่างจริงจัง เราทุกคนควรแบ่งเวลาจากหน้าที่การงานหรือภาระต่าง ๆ ออกมาเล่นกีฬาเพื่อสร้างเสริมสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ดี บ่มเพาะลักษณะนิสัยที่ดีของนักีฬาคือ “รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย และมีความสามัคคีให้แก่กัน” กันด้วยนะครับ

อ้างอิง : 1

Thosapol

นักเขียนบทความที่ Thaiger จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชี่ยวชาญเรื่องบทความท่องเที่ยว บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ผ่านการค้นหาข้อมูลโดยละเอียดพร้อมด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง งานอดิเรกมีความสนใจในกระแสข่าวรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือเป็นทาสแมวร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ช่องทางติดต่อ thospol@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button