ไลฟ์สไตล์

10 ธันวาคม “วันสิทธิมนุษยชน” แนะนำปฏิญญาสากล 30 ข้อที่ควรรู้

ตระหนักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาส “วันสิทธิมนุษยชน” ตรงกับวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี ชวนศึกษาความหมายสิทธิมนุษยชนทั้งในไทยและสากล พร้อมแนะนำปฏิญญาสากล 30 ข้อที่ควรรู้มีอะไรบ้าง

วันสิทธิมนุษยชนสากล หรือวันสิทธิมนุษยนชนแห่งสหประชาชาติ ปีนี้ตรงกับ วันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม 2565 จัดตั้งขึ้นเพื่อรณรงค์ให้ทั่วโลกเห็นความสำคัญถึงประเด็นของสิทธิมนุษยชน (Human Rights) อันเป็นหลักทางศีลธรรมหรือจารีตขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงได้รับโดยไม่แบ่งเชื้อชาติ เพศ หรือศาสนา ก่อตั้งครั้งแรกจากการที่สมัชชาใหญ่มีมติเห็นชอบและประกาศปฏิญญาสากล คือ เอกสารที่ทั่วโลกตกลงใช้ร่วมกันเป็นแนวทางไปสู่เสรีภาพและความเท่าเทียม โดยการปกป้องสิทธิมนุษยชนของทุกคนในทุกแห่งหน ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ( Universal Declaration of Human Rights หรือ UDHR) ซึ่งเป็นการแถลงสิทธิมนุษยชนทั่วโลกครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2491 และมีมติประกาศให้วันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันสิทธิมนุษยชน นับจากนี้เป็นต้นมานั่นเอง

ทีมงาน The Thaiger ชวนผู้อ่านมาทำความรู้จักประวัติของวันสิทธิมนุษยชนสากล ข้อกฏหมายสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน จำนวน 30 ข้อ ที่ยึดถือเป็นมาตรฐานในระดับนานาชาติมีอะไรบ้าง จะได้มีความเข้าใจถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชนมากยิ่งขึ้นครับ

ประวัติก่อตั้ง “วันสิทธิมนุษยชน”

รู้จักความหมายของคำว่า “สิทธิมนุษยชน” คือ สิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนบนโลกพึงมีและควรได้รับด้วยความเสมอภาค โดยที่ไม่มีใครสามารถพรากสิทธิมนุษยชนไปจากเราได้

จากความหมายของสิทธิมนุษยชนดังกล่าว ทำให้ผู้นำประเทศต่าง ๆ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เริ่มตระหนักถึงความสำคัญจากการได้รับความคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นบรรทัดฐานในการก่อให้เกิดสันติภาพและความเจริญก้าวหน้าอย่างเป็นอารยะในระดับนานาชาติ

เช่นนั้นแล้วทาง สมัชชาสหประชาชาติจึงได้มีมติรับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (The Universal Declaration of Human Rights) เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2491 (ค.ศ. 1948) และมีมติประกาศให้วันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันสิทธิมนุษยชน Human Rights Day

จากนั้นในปี พ.ศ. 2495 สมัชชาสหประชาชาติได้มีมติ ให้ร่างตราสารสิทธิมนุษยชนขึ้น 2 ฉบับ ชื่อว่า “กติกา” (Convenant) เนื้อหาแบ่งเป็น สิทธิทางแพ่งและทางการเมืองฉบับหนึ่ง และสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมอีกฉบับ ซึ่งกติกาทั้งสองฉบับได้ผ่านการรับรอง เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2509 และวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2519 ตามลำดับ

วันสิทธิมนุษยชน 10 ธันวาคม ในไทย

กฎหมายสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

สำหรับ กฎหมายสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย อ้างอิงตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน พ.ศ. 2560 ได้ระบุว่า การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไว้หลายมาตราด้วยกัน เช่น ในมาตรา 4 นั้นระบุว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง” และ ในหมวดที่ 3 ซึ่งเป็นหมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย

มาตราที่ 25 ถึง 49 ยังได้บรรยายขอบเขตของสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไว้ในหลายด้านด้วยกัน เช่น ความยุติธรรมทางอาญา การศึกษา การไม่เลือกปฏิบัติ เสรีภาพในการแสดงออก การไม่ก้าวก่ายชีวิตส่วนตัว และข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว เป็นต้น

อีกทั้งรัฐบาลไทยยังมีแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งจัดทำฉบับแรกในปี พ.ศ. 2551 โดยรัฐบาลได้จัดทำแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขึ้น สำหรับให้ทุกภาคส่วนนําไปใช้ในการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิของประชาชนในประเทศต่อไปในอนาคต (ฉบับปัจจุบันเป็นฉบับที่ 3 พ.ศ. 2557-2561)

นอกจากนี้ ประเทศไทยเป็นภาคีสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน จำนวน 7 ฉบับ จากทั้งหมด 9 ฉบับ ส่งผลให้ประเทศไทยมีสิ่งที่เรียกว่า “พันธะผูกพัน” ในการปฏิบัติตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี

รวมไปถึงข้อตกลงเพิ่มเติมที่เกิดขึ้นจากการประชุมระดับโลก ผ่านการทำงานของหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบอย่างกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมในประเทศไทย

วันสิทธิมนุษยชน 10 ธันวาคม 2565

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน 30 ข้อ

อย่างที่ทราบกันดีว่าสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN) อันประกอบด้วยสมาชิกประเทศต่าง ๆ ได้ลงมติรับรองและประกาศใช้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2491 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ทั้งนี้แม้ว่า ปฏิญญาฉบับนี้จะไม่ใช่สนธิสัญญาระหว่างประเทศ แต่ก็ถือเป็นข้อปฏิบัติสำคัญในการสร้างความน่าเชื่อถือว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชนในระดานานาชาติ ซึ่งฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนประกอบด้วยหัวข้อจำนวน 30 ข้อ ดังต่อไปนี้

  1. ทุกคนเกิดมาเท่าเทียม
  2. ไม่แบ่งแยก
  3. สิทธิในการมีชีวิต
  4. ไม่ตกเป็นทาส
  5. ไม่ถูกทรมาน
  6. ได้รับการคุ้มครองทางกฏมาย
  7. เท่าเทียมกันตามกฏหมาย
  8. สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองตามกฏหมาย
  9. ไม่ถูกคุมขังโดยพลการ
  10. บุคคลใดจะถูกจับกุม กักขัง หรือเนรเทศตามอำเภอใจไม่ได้
  11. ได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรม
  12. เป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะตัดสิน
  13. สิทธิความเป็นส่วนตัว
  14. เสรีภาพในการเดินทาง
  15. สิทธิที่จะลี้ภัย
  16. สิทธิที่จะมีสัญชาติ
  17. เสรีภาพในการแต่งงาน
  18. สิทธิในการครอบครองทรัพย์สิน
  19. เสรีภาพในการนับถือศาสนา
  20. เสรีภาพในการแสดงออก
  21. เสรีภาพในการชุมนุมอย่างสันติ
  22. การมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ
  23. การได้รับการดูแลและคุ้มครองจากรัฐ
  24. สิทธิในการทำงาน
  25. สิทธิในการพักผ่อน
  26. คุณภาพชีวิตที่ดี
  27. สิทธิในการศึกษา
  28. สันติภาพระหว่างประเทศ
  29. เคารพสิทธิผู้อื่น
  30. ไม่มีใครเอาสิทธิเหล่านี้ไปจากเราได้

อ้างอิง : amnesty1 amnesty 2

Thosapol

นักเขียนบทความที่ Thaiger จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชี่ยวชาญเรื่องบทความท่องเที่ยว บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ผ่านการค้นหาข้อมูลโดยละเอียดพร้อมด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง งานอดิเรกมีความสนใจในกระแสข่าวรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือเป็นทาสแมวร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ช่องทางติดต่อ thospol@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button