ไลฟ์สไตล์

ประวัติวันลอยกระทง วันเพ็ญเดือนสิบสอง ขอขมาพระแม่คงคา ตรงกับวันอะไร

เปิดประวัติวันลอยกระทง 15 พฤศจิกายน 2567 วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ขอขมาต่อพระแม่คงคาช่วยให้เกิดความเป็นสิริมงคลด้วยกระทงที่ประดับด้วยดอกไม้ ธูปเทียน แล้วนำไปลอยตามแม่น้ำลำธาร

ทำความรู้จักประวัติความเป็นมา วันลอยกระทง หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า Loy Krathong Festival ตรงกับวันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2567 หรือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติโบราณ นับเป็นวันพระจันทร์เต็มดวงทำให้ค่ำคืนในเทศกาลลอยกระทงมีบรรยากาศสวยงามและสว่างสดใสกว่าคืนอื่น ๆ เกิดเป็นประเพณีการทำพิธีกรรมขอขมาต่อพระแม่คงคาด้วยกระทงที่ประดับตกแต่งด้วยดอกไม้หอมหลากชนิด ธูปเทียนเพื่อความสว่างไสวในคืนลอยกระทงของทุกปี โดยมีประวัติและตำนานเล่าสืบย้อนไปดังนี้

Advertisements

ประวัติวันลอยกระทง ประเพณีไทย

สำหรับประวัติประเพณีลอยกระทงในประเทศไทยฉบับสั้น ๆ เข้าใจง่าย คาดว่าเกิดจากการรับวัฒนธรรมเก่าแก่จากอินเดียเข้ามาในตอนนั้น โดยมีเพียงหลักฐานย้อนกลับไปในยุคสุโขทัย รัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหง มีบันทึกเรียกประเพณีลอยกระทงว่า พิธีจองเปรียบ หมายถึงการลอยพระประทีป เพราะเดิมทีใช้โคมลอยแทนกระทงอย่างในปัจจุบัน

ประเพณีลอยกระทงตามคติความเชื่อของชาวสุโขทัย มีจุดประสงค์เพื่อสักการะเทพเจ้าทั้ง 3 องค์ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ในประเทศอินเดีย ได้แก่ พระอิศวร พระนารายณ และพระพรหม

ในเวลาต่อมาได้มีการนำความเชื่อด้านพุทธศาสนาเข้ามาในดินแดนสุโขทัย ทำให้มีการลอยโคมเพื่อบูชารอยพระพุทธบาท และบูชาพระบรมสารีริกธาตุ และพัฒนาต่อตามรูปแบบความเชื่อในแต่ละช่วงเวลานั่นเอง อย่างเช่นการใส่เหรียญในกระทง หรือการประกวดนางนพมาศในวันลอยกระทงที่มักเห็นในประเทศไทยปัจจุบัน

นอกจากนี้ บางตำนานยังเล่าว่าการลอยกระทงไม่ได้มีแค่ในวัฒนธรรมไทยเท่านั้น แต่ยังสามารถพบเห็นได้ในหลายวัฒนธรรมบริเวณแถบเอเชียที่มีความเชื่อเกี่ยวข้องกับศาสนาผี พุทธ หรือ พราหมณ์ แต่จะเน้นไปที่กลุ่มคนที่มีความเชื่อของคติพุทธและพราหมณ์ที่ลอยกระทงเพื่อเป็นพุทธบูชานั่นเอง

วัตถุประสงค์ “วันลอยกระทง”

Advertisements

ทั้งนี้ประเพณีลอยกระทง จัดว่าเป็นวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ เพราะนอกจากจะส่งผลต่อความเชื่อ-ความศรัทธาของชาวไทยแล้ว ยังมีจุดประสงค์อันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมทั้งหมด 3 ข้อ ดังนี้

1. เพื่อบูชาและขอขมาแก่พระแม่คงคา และสักการะรอยพระพุทธบาทและบูชาเทพเจ้า

2. เพื่ออนุรักษ์ขนมธรรมเนียมประเพณีไทยโบราณให้คงอยู่สืบสานต่อไป

3. เพื่อตระหนักรู้คุณค่าและความสำคัญของทรัพยากรน้ำ ทั้งห้วย คลอง บึง แม่น้ำ ลำธาร และทะเล

ประวัติวันลอยกระทง 2566 ที่มาประวัติศาสตร์ไทย

ประวัติความเป็นมา “นางนพมาศ”

มีหลักฐานในศิลาจารึกหลักที่ 1 ซึ่งกล่าวถึง นางนพมาศ หรือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ที่เป็นผู้ประดิษฐกระทงขึ้นครั้งแรก มีความเกี่ยวข้องกับ งานเผาเทียนเล่นไฟ หรืองานเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในกรุงสุโขทัย ณ เวลานั้น คาดการณ์ว่า “งานเผาเทียนเล่นไฟ” อาจเป็นการจัดประเพณีลอยกระทงในสมัยก่อน โดยการใช้ดอกบัวลอยไปตามแม่น้ำลำธาร

เวลาล่วงเลยผ่านไปจนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในหลวงรัชกาลที่ 2 ได้ริเริ่มให้ใช้ต้นกล้วยในการลอยกระทงแทน แต่ทรงเห็นว่าดูแล้วไม่สวยงดงาม จึงเปลี่ยนมาใช้การพับใบตองและสืบทอดการลอยกระทงมาจนถึงปัจจุบัน

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าเทศกาลวันลอยกระทงไม่ได้มีแค่เฉพาะที่ประเทศไทย แต่ยังรวมถึงประเทศลาว กัมพูชา เมียนมา ประเทศจีนตอนใต้ และพื้นที่ในแถบเอเชียอาคเนย์อีกด้วย ทั้งนี้ในแต่ละท้องที่ก็จะมีจุดประสงค์ของการลอยกระทงแตกต่างออกไป ไม่ว่าจะเป็นการลอยกระทงเพื่อขอขมาต่อพระแม่คงคา ที่ได้ให้ ได้ใช้น้ำจากแหล่งน้ำ

เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์เปรียบกระทงเป็นความทุกข์ในชีวิต นำไปปล่อยในแม่น้ำ เพื่อให้สิ่งไม่ดีต่าง ๆ ล่องลอยมลายหายไปในแม่น้ำ หรือจะเป็นการบูชาเทพ พระอุปคุต สำหรับชาวไทยภาคเหนือ ที่มีตำนานเล่าว่าพระอุปคุตเป็นหนึ่งในเป็นพระมหาเถระ ที่สามารถปราบพญามารและภูติผีปีศาจได้

นอกจากเหตุผลด้านความเชื่อแล้ว เทศกาลลอยกระทงมักจัดขึ้นเพื่อการเฉลิมฉลอง หรือการพบปะสังสรรค์กับญาติมิตรในครอบครัวอีกด้วย

ประวัติที่มาวันลอยกระทง

แนะนำเทศกาลลอยกระทง ประจำปี 2567

สำหรับงานลอยกระทงในประเทศไทย ประจำปี 2567 ถูกจัดขึ้นหลายภาคส่วน ตั้งแต่งานลอยกระทงอยุธยา ลอยกระทงตาลปัตร 2567 และจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศไทย มีกิจกรรมมากมายและหลากหลายต้อนรับนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลวันลอยกระทงตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2567

เทศกาลลอยกระทง “4 วัด 1 วัง เมื่อครั้งต้นกรุง”

งานลอยกระทง “4 วัด 1 วัง เมื่อครั้งต้นกรุง” จะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 9-17 พฤศจิกายน 2567 ในพื้นที่โบราณสถานสำคัญ ได้แก่ วัดไชยวัฒนาราม วัดราชบูรณะ วัดมหาธาตุ วัดพระราม และพระราชวังจันทรเกษม ภายในงานมีการแสดงนาฏศิลป์และศิลปวัฒนธรรมไทย อาทิ การแสดงโขน การแสดงหุ่นกระบอก และหนังใหญ่ นำเสนอผ่านบรรยากาศที่มีการประดับแสงไฟและเทคนิค Projection Mapping เพื่อเพิ่มความน่าตื่นตาตื่นใจ

กิจกรรมที่น่าสนใจอีกอย่างคือการประกวดนางนพมาศ ภายใต้แนวคิด “โฉมงามแห่งกรุงศรี” โดยการประกวดจะมีขึ้นที่วัดพระราม พร้อมการแสดงเพลงพื้นบ้าน เช่น เพลงเรือและการละเล่นสมัยโบราณ จึงถือเป็นโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นความงดงามของศิลปะไทย รวมถึงการฟื้นฟูและอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่เคยเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนกรุงศรีอยุธยาในอดีต การจัดงานลอยกระทงในปีนี้ยังเสริมด้วยการสาธิตงานช่างศิลป์โบราณ โดยช่างสิบหมู่จากกรมศิลปากร ที่มานำเสนอฝีมืออันละเอียดอ่อนของคนสมัยก่อน รวมถึงการจัดแสดงหุ่นกระบอกและการละเล่นไทยดั้งเดิม

ภาพจาก กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร

เทศกาล “ลอยกระทงตาลปัตร 2567”

งานประเพณีลอยกระทงตาลปัตร ปี 2567 ณ วัดสามเรือน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นงานที่ผสมผสานความเชื่อและวัฒนธรรมท้องถิ่น จัดขึ้นในวันที่ 14-15 พฤศจิกายน 2567 โดยมีไฮไลท์ เป็นอุโมงค์บุญสำหรับขอพร นิทรรศการแสดงวิถีชีวิตดั้งเดิม, การสาธิตทำกระทงจากต้นตาลปัตร ช่วงค่ำจะมีการแสดงพื้นบ้านอาบน้ำคืนเพ็ญ และการประกวดตกแต่งเรือแบบสวยงามให้ได้ชม รวมถึงการประกวดหนูน้อยนพมาศ สร้างบรรยากาศแบบไทยแท้ที่เต็มไปด้วยความงดงามและความสนุกสนาน

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมแข่งเรือประเพณีศรีคงคาที่จัดขึ้น ณ วัดขนอนเหนือ เพื่อสืบสานประเพณีวิถีชุมชน โดยเริ่มตั้งแต่ 10.00 น. เป็นต้นไป ผู้เข้าชมสามารถสนุกกับการแข่งขันเรือ พร้อมเพลิดเพลินไปกับการประกวดอาหารพื้นบ้านและน้ำพริกจากผักท้องถิ่น ช่วงกลางคืนยังสามารถลอยกระทงริมท่าน้ำเพื่อร่วมในพิธีที่อบอุ่น และสัมผัสเสน่ห์แห่งศิลปวัฒนธรรมของชาวอยุธยา

ภาพจาก องค์การบริหารส่วนตำบลสามเรือน อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา

อย่างไรก็ตามงานเทศกาลวันลอยกระทง 15 พฤศจิกายน 2567 จัดขึ้นเพื่อขอขมาต่อพระแม่คงคา ดังนั้นกระทงที่จะนำมาลอยในแม่น้ำควรเป็นกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติที่สามารถย่อยสลายได้ หรือใครไม่อยากออกมาลอยกระทงนอกบ้านก็สามารถลอยกระทงออนไลน์ตามเว็บไซต์ต่าง ๆ ได้เลยนะครับ

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง : Wikipedia

Thosapol

นักเขียนบทความที่ Thaiger จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชี่ยวชาญเรื่องบทความท่องเที่ยว บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ผ่านการค้นหาข้อมูลโดยละเอียดพร้อมด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง งานอดิเรกมีความสนใจในกระแสข่าวรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือเป็นทาสแมวร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ช่องทางติดต่อ thospol@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button