ไฟเขียว พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ อำนวยความสะดวก ปชช.
เริ่มใช้ พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่วันนี้ สนับสนุนการเข้าสู่ยุคดิจิทัล อำนวยความสะดวกประชาชน
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 65 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศเผยแพร่ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ซึ่งจะเป็นกฎหมายกลางว่าด้วยการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ ส่งเสริมให้การทำงาน การให้บริการของภาครัฐสามารถใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักได้ สนับสนุนการไปสู่รัฐบาลดิจิทัล ซึ่งเป็นไปตามการปฏิรูปประเทศด้านการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ที่ให้มีการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาประยุกต์ใช้เพื่อบริการสาธารณะและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน
พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ จะใช้บังคับแก่หน่วยงานของรัฐทุกหน่วย ที่ไม่ใช่หน่วยงานในฝ่ายนิติบัญญัติ ตุลาการ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์กรอัยการ และหน่วยงานอื่นของรัฐที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่หากจะใช้บังคับกับหน่วยงานดังกล่าวจะต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และจะใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เว้นแต่มาตรา 12 มาตรา 15 วรรคสอง มาตรา 19 และมาตรา 22 ที่ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ตั้งแต่ 13 ต.ค. 65เป็นต้นไป)
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้จะกำหนดให้หน่วยงานรัฐที่อยู่ภายใต้บังคับต้องมีช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ในการติดต่อสื่อสาร ทั้งระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกัน, ระหว่างประชาชนกับหน่วยงานรัฐและ ผู้ประกอบการกับหน่วยงานรัฐ กำหนดวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งมาตรฐานข้อมูลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสำหรับภาครัฐเพื่อให้เชื่อมโยงข้อมูลและสามารถบริการประชาชนได้โดยสะดวกและปลอดภัย
โดยสาระสำคัญจะอยู่ใน มาตรา 7 ที่กำหนดให้การใดๆ ที่กฎหมายกำหนดให้ประชาชน หรือผู้ประกอบธุรกิจต้องยื่นขออนุญาตจากหน่วยงานต่างๆ โดยต้องยื่นเอกสารหลักฐานหรือสำเนาเอกสารประกอบคำขออนุญาต ผู้ขออนุญาตสามารถเลือกยื่นเอกสารโดยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ และให้ถือว่าเป็นการยื่นเอกสารโดยชอบแล้วเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องจะปฏิเสธไม่รับคำขอดังกล่าวเพราะเหตุการยื่นขออนุญาตทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับบทบัญญัติที่เริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. 65 เป็นต้นไป เนื่องจากจะทำให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวมถึงให้หน่วยงานเกี่ยวข้องได้เริ่มดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องทันทีเพื่อรองรับการเริ่มมีผลบังคับ เช่น มาตรา 12 กำหนดให้เมื่อประชาชนติดต่อหน่วยงานเพื่อขอรับอนุญาตได้นำเอกสารตัวจริงมาแสดงแล้ว ให้หน่วยงานรัฐมีหน้าที่เป็นผู้ทำสำเนาเองโดยไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆ
มาตรา 15 วรรคสอง กำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการแก้ไขกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติใดๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการติดต่อระหว่างเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐด้วยกัน หรือระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานรัฐในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐผ่านวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว
น.ส.ไตรศุลี กล่าว มาตรา 19 กำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดทำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรวมถึงมาตรฐานข้อมูลด้านเทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสาร ที่หน่วยงานรัฐจะต้องใช้และปฏิบัติให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกัน และเสนอต่อ ครม. ใน 240 วัน และระหว่างที่ ครม. ยังไม่ได้กำหนดวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์นี้ ให้หน่วยงานของรัฐปฏิบัติตามมาตรฐานอื่นๆ ที่ใช้งานกันอย่างแพร่หลายไปพลางก่อน
สำหรับมาตรา 22 เป็นบทบังคับเพื่อให้ทุกหน่วยงานต้องดำเนินการเพื่อให้ปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้สำเร็จ โดยให้ ครม. กำหนดให้มีหน่วยงานทำหน้าที่ติดตาม เร่งรัด การดำเนินการของหน่วยงานต่างๆ พร้อมรายงานให้ ครม. ทราบทุก 60 วันว่าหน่วยงานใดยังไม่ดำเนินการ พร้อมทั้งประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปด้วย และทำหน้าที่แจ้งให้หน่วยงานรัฐทุกหน่วยทราบในทุก 15 วัน ถึงหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามตลอดจนระยะเวลาที่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.นี้