พาไปดู พิธียกเสาโกเต้ง พิธีสำคัญของคนถิ่นท้องถิ่นภาคใต้ สัญลักษณ์ของการเริ่มต้นเทศกาลกินเจ 2565 หรืออีกชื่อก็คือ พิธีถือศีลกินผัก พิธีนี้มีความเป็นมาและที่มาที่ไปอย่างไร ทำไมการยกเสาโกเต้งจึงเปรียบเสมือนพิธีเปิดงานของการกินเจที่จังหวัดภูเก็ต รวมถึงจังหวัดอื่น ๆ มาอ่านเกร็ดความรู้ที่น่าสนใจนี้ไปพร้อมกันเลย
เสาโกเต้ง หรืออีกชื่อคือ เสาเต็งโก เพี้ยนเสียงมาจากคำภาษาจีนว่า 燈篙 (เติงเกา) หรือแปลตรงตัวว่า โคมไฟสูง เสาโกเต้งนี้จะเป็นเสาสูงที่ทำมาจากไม้ไผ่แขวนราวตะเกียงไว้ที่ปลายด้านหนึ่ง เมื่อถึงช่วงเทศกาลถือศีลกินผักมักจะมีการนำเสาโกเต้งนี้มาตั้งไว้ที่ด้านหลังของแท่นบูชาฟ้าดิน
ชาวจีนสมัยก่อนเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะใช้เสาโกเต้งเพื่อเดินทางมายังโลกมนุษย์ ดังนั้นเสาโกเต้งจึงต้องมีจำนวนปล้องไม้ไผ่รวมแล้ว 36 ปล้อง แทนจำนวน 36 ชั้นฟ้า โดยไม้ที่ใช้ทำเสาโกเต้งจะต้องตรง งาม ไม่มีรอยแตกตามลำไม้
นอกจากนี้จำนวนข้อปล้องของเสาโกเต้งก็ต้องห้ามขาดห้ามเกินเพราะเชื่อกันว่าจะไม่เป็นมงคล ซึ่งแต่ละข้อก็จะแทนความหมายที่ต่างกันออกไป ดังนี้
- ข้อที่ 1 เซ่ง หมายถึง เกิด
- ข้อที่ 2 หล่าว หมายถึง แก่
- ข้อที่ 3 แป๋ หมายถึง เจ็บป่วย
- ข้อที่ 4 ซี้ หมายถึง ตาย
- ข้อที่ 5 โค่ว หมายถึง ลำบาก
โดยข้อที่ 6 จะเริ่มนับเซ่งที่หมายถึงการเกิด วนไปจนครบ เป็นที่มาว่าเพราะเหตุใดเสาโกเต้งจึงต้องมี 36 ข้อปล้อง เพราะลงเลขที่มีความหมายดีนั่นเอง
สำหรับพิธียกเสาโกเต้งจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในช่วงวันแรกของพิธีกินเจ ซึ่งในปี 2565 จัดขึ้นในวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา พิธีนี้มีการยกเสาโกเต้ง พร้อมกับอัญเชิญตะเกียงขึ้นสู่ยอดเสาจำนวน 9 ดวง โดยตะเกียงนี้จะถูกจุดให้สว่างไสวตลอดพิธีกินเจ ตามความเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายจะใช้เสาโกเต้งนี้เดินทางลงมายังโลกมนุษย์
หากจะเปรียบให้เห็นภาพ พิธียกเสาโกเต้งก็เปรียบได้กับการจุดคบเพลิงก่อนเริ่มกิจกรรมกีฬา หรือการตัดริบบิ้นก่อนเริ่มงาน ดังนั้นจะกล่าวว่าพิธียกเสาโกเต้งคือพิธีเริ่มต้นของประเพณีถือศีลกินผักแห่งท้องถิ่นภาคใต้ โดยเฉพาะในจังหวัดภูเก็ตและพังงาก็ไม่ผิดนัก
นอกจากพิธียกเสาโกเต้งแล้ว ตามอ๊ามหรือศาลเจ้าในท้องถิ่นภาคใต้ ยังมีการประกอบพิธีอัญเชิญเทพลงสู่สวรรค์และส่งกลับสวรรค์หลังเสร็จสิ้นพิธีถือศีลกินผักประจำปีอีกด้วย.
พิธียกเสาโกเต้งภูเก็ต 2565