เปิดไทม์ไลน์ ‘ประยุทธ์’ ครบวาระนายกฯ 8 ปี 24 ส.ค.นี้
สรุปไทม์ไลน์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ครบวาระนายกฯ 8 ปี วันที่ 24 สิงหาคม 2565 มีเหตุการณ์สำคัญอะไรบ้าง หลังหลายฝ่ายจับตามองจะไปต่อหรือพอแค่นี้
ย้อนไทม์ไลน์ “8ปีประยุทธ์” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (บิ๊กตู่) หลังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 หลังจากที่ทำการรัฐประหารมาในปี พ.ศ. 2557 ทำให้หลายฝ่ายจับตามองต่อท่าทีของนายกฯ ประยุทธ์ ว่าจะดำรงตำแหน่งนายกต่อไปหรือไม่
อย่างไรก็ตามทีมงานเดอะไทยเกอร์จะขอพาทุกคนไปดูไทม์ไลน์การขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กันสักหน่อยว่า จุดเริ่มต้นของการมาอยู่ในตำแหน่งผู้นำประเทศครั้งนี้มีที่มาที่ไปอย่างไรบ้าง ไปติดตามพร้อมกันได้เลย
ส่องไทม์ไลน์ ‘ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ก่อนเป็นนายกครบ 8 ปี
ย้อนประวัติเหตุการณ์สำคัญของรัฐบาล พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนครบวาระเป็นนายกฯ 8 ปี ในวันพุธที่ 24 สิงหาคม 2565 มีที่มาเหตุการณ์สำคัญอไรบ้าง โดยหากอ้างอิงจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ตามาตรา 158 นายกรัฐมนตรี จะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปี ไม่ได้ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่ไม่นับรวมระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป หลังพ้นจากตำแหน่ง
ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ต่างฝ่ายต่างรอลุ้นผลคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนุญ ว่าจะวินิจฉัยให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 นี้ แต่ก่อนอื่นเรามาดูที่มาที่ไปของการดำรงตำแหน่งนายกของพลเอกประยุทธ์กันก่อน
พ.ศ. 2556 พล.อ.ประยุทธ์ ถูกกลุ่ม กปปส. เรียกร้องให้ยึดอำนาจรัฐบาล
– ปี พ.ศ. 2554 หลังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภา ทำให้ประเทศไทยเกิดการเลือกตั้งขึ้นอีกครั้ง โดยผลการเลือกตั้งในครั้งนั้นปรากฏว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย
– ปี พ.ศ. 2556 รัฐบาลยิ่งลักษณ์พยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรบ.นิรโทษกรรม ประกอบกับการจัดการปัญหาอุทกภัยใหญ่ในปี พ.ศ. 2554 ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร จึงทำให้เกิดการประท้วงจากกลุ่ม กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข)
– ปี พ.ศ. 2556-2557 เกิดวิกฤตทางการเมืองไทยขึ้นมากมาย โดยกลุ่ม กปปส. นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ทำการประท้วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แม้พรบ.นิรโทษกรรม (ที่เป็นตัวการหลักของความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้) จะถูกลงมติไม่เห็นชอบจากวุฒิสภาก็ตาม แต่การประท้วงยังคงดำเนินต่อไป
พ.ศ. 2557 พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเป็นนายกคนที่ 29 หลังทำรัฐประหารรัฐบาลยิ่งลักษณ์
– 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และคณะรัฐมนตรีถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง โดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นผู้ยื่นคำร้องให้วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
– 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เวลา 03.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรไทย จากนั้นจึงจัดตั้ง กอ.รส. หรือ กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย
– 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศผ่านทางโทรทัศน์ว่าทำการรัฐประหารรัฐบาลรักษาการอย่างเป็นทางการแล้ว หลังจากนั้นก็ได้จัดตั้ง คสช. หรือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ขึ้นมาเพื่อควบคุมความสงบเรียบร้อยภายในประเทศหลังทำการรัฐประหาร
พ.ศ. 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จัดตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 250 คน
– 24 สิงหาคม พ.ศ. 2557 มีประกาศราชกิจจานุเบกษาแต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทย หลังจากที่ทำการรัฐประหารยึดอำนาจมาจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์
– 5 ตุลาคม พ.ศ. 2558 มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ (รัฐธรรมนูญปี 2560) โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธ์ุ เป็นประธาน พร้อมกันนี้ทาง คสช. ก็ได้มีการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 250 คน และมีการประกาศใช้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
พ.ศ. 2562 พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ สมัยที่ 2 คราวนี้มาจากการโหวตของ ส.ส. และ ส.ว. ในคราวเลือกตั้งปี 2562
– 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 เกิดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ครั้งแรกนับตั้งแต่มีการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2557 โดยผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตจากพรรคพลังประชารัฐได้รับการเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยต่ออีกหนึ่งสมัย
– 24 สิงหาคม 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะดำรงตำแหน่งวาระนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทยครบ 8 ปี