ข่าว

ยาฟาวิพิราเวียร์ ไขทุกข้อสงสัย ควรกินไหม กินกี่เม็ด ใครควรใช้-ไม่ควรใช้

ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) กางข้อมูลการใช้อย่างละเอียดหลังตัวเลขไวรัสโควิยังระบาดไม่หยุด วิธีกิน ใครควรใช้ ไม่ควรใช้ ข้อควรระวัง ตลอดจนรายละเอียดอื่นๆ ทั้งงหมด ดูที่นี่

ฟาวิพิราเวียร์ ควรกินไหมกินก่อนหรือหลังอาหาร ใครควรใช้ ไม่ควรใช้บ้าง หลังจากปัจจุบันมีการค้นคว้าตัวยาเพื่อป้องกันและรักษาโรคไวรัสโควิด – 19

Advertisements

ทั้งในรูปแบบการพัฒนาวัคซีนและศึกษาสูตรยาต้านไวรัส เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์แพร่ระบาดรวมถึงการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ที่รุนแรงขึ้น ครอบคลุมไปถึงการนำยาที่มีใช้อยู่แล้วมาศึกษา

หลัก ๆ ที่คนส่วนใหญ่รู้จักและให้ความสนใจ คือ ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) โดยกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้ยา Favipiravir เป็นยาหลักในการรักษาผู้ป่วยโควิด – 19 ตามแนวทางการดูแลรักษา COVID – 19

เป็นยารับประทานรูปแบบเม็ด อยู่ในประเภท Influenza antiviral agent ด้วยมีฤทธิ์ต้านไวรัสในกลุ่ม RNA virus รูปแบบการออกฤทธิ์ 2 แบบ คือ ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสและทำให้ไวรัสมีการสร้างสารพันธุกรรมที่ผิดปกติและทำให้ไวรัสตาย โดยในประเทศไทยมีการอนุมัติให้ใช้เป็นกรณีพิเศษโดยใช้ในการรักษาควบคู่ไปกับยาอื่น

ใครบ้างที่ควรได้รับการรักษาด้วยยานี้

แพทย์จะพิจารณาใช้ในผู้ป่วยภาวะปอดอักเสบที่มีอาการรุนแรง โดยเฉพาะผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง ได้แก่ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มีโรคประจำตัว ดังนี้ โรคปอดเรื้อรัง โรคตับ ไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน รวมถึงในผู้ที่มีภาวะอ้วนหรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง

วิธีการรับประทานยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir)

สามารถรับประทานได้ทั้งก่อนและหลังอาหาร เนื่องจากยาถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ดี

Advertisements

ขนาดยาที่ใช้สำหรับผู้ใหญ่

– วันแรกให้รับประทานครั้งละ 9 เม็ดทุก 12 ชั่วโมง และในวันที่เหลือรับประทานครั้งละ 4 เม็ด ทุก 12 ชั่วโมง

– ผู้ที่น้ำหนักมากกว่า 90 กิโลกรัม วันแรกให้รับประทานครั้งละ 12 เม็ดทุก 12 ชั่วโมง และในวันที่เหลือรับประทานครั้งละ 5 เม็ด ทุก 12 ชั่วโมง

ขนาดยาในผู้ป่วยเด็ก

– วันแรกรับประทานยาขนาดยา 70 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน วันละ 2 ครั้ง และ วันต่อมารับประทานยาขนาดยา 30 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน วันละ 2 ครั้ง

ระยะเวลาในการรักษาอยู่ที่ 5-10 วัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและการตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วยแต่ละราย

อาการข้างเคียงจากการใช้ยา

อาการที่อาจพบได้ คือ ตับอักเสบ คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว ผิวหนังเป็นผื่นแพ้ ระดับกรดยูริกที่สูงขึ้นทำให้เสี่ยงต่อการเกิด Acute gouty attack ในผู้ป่วยที่เป็นโรคเกาต์

อีกทั้งอาจยังพบค่า Creatine Phosphokinase (CPK) ในเลือดสูงขึ้นโดยไม่พบความผิดปกติของกล้ามเนื้อด้วย

ใครบ้างไม่ควรใช้ยานี้

– หญิงตั้งครรภ์หรือสงสัยว่าอาจตั้งครรภ์ เนื่องจากยามีความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายและอาจทำให้ ลูกในท้องพิการหรือเสียชีวิตได้ ไม่แนะนำให้ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ในหญิงตั้งครรภ์ไตรมาส 1 แต่สามารถใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ได้ในหญิงตั้งครรภ์ไตรมาส 2 และ 3 ถ้ามีข้อบ่งชี้และแพทย์พิจารณาแล้วว่าจะได้ประโยชน์ มากกว่าความเสี่ยง โดยมีการตัดสินใจร่วมกันกับผู้ป่วยและญาติ

– ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับและไตบกพร่องระดับรุนแรง

ข้อควรระวังเมื่อใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir)

– ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) อาจทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูงขึ้นหรืออาการของโรคเกาต์แย่ลง ควรระมัดระวังเมื่อต้องให้ร่วมกับยา Pyrazinamide

– ยาอาจมีผลต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง

– ระวังภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เมื่อใช้ร่วมกับยารักษาโรคเบาหวาน Repaglinide หรือ Pioglitazone

ข้อแนะนำเมื่อใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir)

– ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ไม่ต้องปรับขนาดยา

– ผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับบกพร่องในระดับปานกลางถึงรุนแรงควรปรับขนาดยาเป็น วันที่ 1 : 4 เม็ด วันละ 2 ครั้ง และวันต่อมา : 2 เม็ด วันละ 2 ครั้ง

– ควรให้ยาภายใน 4 วันแรกตั้งแต่เริ่มมีอาการ จึงจะได้ผลดี

ทั้งนี้ ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ที่ต้องสั่งจ่ายและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ จำเป็นต้องติดตามอาการข้างเคียงและผลการรักษาระหว่างการใช้ยา

การใช้ยาในผู้ป่วยบางกลุ่มจำเป็นต้องคำนึงถึงประโยชน์และความเสี่ยงจากผลข้างเคียงที่จะตามมา ดังนั้นประชาชนทั่วไปไม่ควรหาซื้อยามารับประทานเอง เนื่องจากอาจเกิดผลเสียต่อร่างกายในระยะยาวได้

โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวและมียาที่ใช้ประจำ รวมถึงสมุนไพรและอาหารเสริม ควรแจ้งแพทย์เพื่อประเมินความจำเป็นของยาแต่ละตัวสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายต่อไป

ฟาวิพิราเวียร์ ควรกินไหม
ภาพ : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button