ข่าว

ยกเลิกหนี้กยศ.จริงไหม หลัง #ล้างหนี้กยศ พุ่งเทรนด์ทวิต

ยกเลิกหนี้กยศ.จริงไหม หลังล่า 1 หมื่นรายชื่อ แก้ไขกฎหมาย กยศ. ให้รัฐเข้ามาเป็นลูกหนี้แทนผู้กู้ หลังสำเร็จการศึกษา 2 ปี อ้างลดแรงจูงใจเกิดความเหลื่อมล้ำ ชาวทวิตถกสนั่น เงินภาษีประชาชน กู้เอง ต้องใช้คืนเอง “สิทธิ” และ “หน้าที่” ต้องรู้จักแยกให้ชัดเจน

แฮชแท็ก #ล้างหนี้กยศ ถูกวิจารณ์สนั่นจนพุ่งขึ้นอันดับ 1 เทรนด์ทวิตเตอร์อย่างรวดเร็ว ภายหลังมีการแชร์ข้อความเชิญชวนลงชื่อ 10,000 รายชื่อ เพื่อยื่นแก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือที่เรียกกันว่า กฎหมายล้างหนี้ กยศ. ต่อรัฐสภา

โดยให้รัฐบาลมีกลไกเข้ามาเป็นลูกหนี้แทนผู้กู้หลังสำเร็จการศึกษา 2 ปี พร้อมกับช่องทางลงชื่อผ่านเว็บไซต์ที่ชื่อว่า “ศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการ” ซึ่งในเว็บไซต์ดังกล่าวได้เผยแพร่ ร่างกฎหมายดังกล่าว โดยที่มาระบุว่า ปัจจุบันหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ กยศ. สูงมากกว่า 60% และก่อหนี้โดยเฉลี่ย 150,000-200,000 บาทต่อคน ใช้เวลาผ่อนชำระถึง 15 ปี ส่วนที่ชำระสูงสุดอาจถึง 50% ของค่าจ้างขั้นต่ำ หรือ 30% ของเงินเดือนปริญญาตรีเริ่มต้น สภาพหนี้สินได้ลดแรงจูงใจในการเริ่มชีวิตประกอบธุรกิจ ใช้ชีวิตตามมาตรฐานสังคม รวมถึงการเข้าแหล่งทุนเพื่อการลงทุนต่างๆ ในช่วงเวลาสำคัญที่สุดของชีวิต

หนี้สินยังลดตัวทวีคูณทางเศรษฐกิจของบัณฑิตจบใหม่ ที่ไม่สามารถเพิ่มรายได้ หรือเปลี่ยนสายงานที่ถนัดได้ การคงอยู่ของสภาพหนี้สินจึงก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำมหาศาล

ทำลายเสรีภาพด้านการดำรงชีวิต สิทธิพื้นฐานในการแสวงหาความรู้ และละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งขัดกับในรัฐธรรมนูญมาตรา 4 แห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งระบุว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง

ภาคประชาชนจึงขอร่วมลงรายชื่อด้วยกันเพื่อให้เกิดการยกเลิกหนี้คงค้างเงินกู้ กยศ. สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาครบ 2 ปีแล้วทุกคน โดยให้สิทธิประโยชน์นี้ไม่มีผลย้อนหลังสำหรับผู้ที่ได้ชำระไปแล้ว เห็นเป็นการสมควรปรับปรุง พ.ร.บ.กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา โดยแก้ไข มาตรา 44 เพิ่มเติม วรรคที่ 5 “ให้ผู้ทำการกู้ที่สำเร็จการศึกษาเกินสองปีและยังคงมียอดกู้คงเหลือให้ถือว่าสิ้นสุดสัญญาเงินกู้ โดยให้กองทุนเก็บยอดหนี้คงค้างจากรัฐบาลต่อไป

ล้างหนี้กยศ
ภาพ welfarewillwin.com

ด้านความเห็นในทวิตเตอร์ ก็มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้อง ล้างหนี้กยศ ครั้งนี้ ความเห็นของคนที่ไม่เห็นด้วย ต่างมอกงว่า หนี้กยศ.เป็นหนี้ที่ตัดสินใจกู้ยืมมาเอง ดังนั้นเมื่อจบการศึกษาก็ควรที่จะเป็นผู้ใช้คืนทั้งหมด

“กู้เอง ก็ต้องใช้คืนเองสิ จะล้างหนี้อะไร เงินภาษีประชาชนทั้งนั้น เราคือคนนึงที่จ่ายคืนทุกเดือนไม่เคยขาด เพราะมันคือหน้าที่ที่ต้องทำ มันคือสิ่งที่ถูกต้อง บางทีเราควรแยก “สิทธิ” และ “หน้าที่” ให้ชัดเจนนะ อย่าเอามาปนกันมั่วๆ แท็กคิดน้อยมาก #ล้างหนี้กยศ”

เผื่อใครไม่รู้ หนี้ กยศ. เค้าฟ้อง เค้าบังคับคดีกันจริงๆนะ หนี้มาก/น้อยไม่เกี่ยว เป็นหนี้ก็ต้องใช้อะ จะมาเบี้ยวไม่จ่าย แล้วชวนกันเบียวให้ออกกฎหมาย #ล้างหนี้กยศ อ้างรัฐสวัสดิการ มึงต้องโดนฟ้องก่อนจ้า

ตอนนี้มันเหมือนเอา #ความเท่าเทียมทางการศึกษา มาเป็นข้อแย้งในการ #ล้างหนี้กยศ เพื่อไม่อยากแบกรับภาระหน้าที่ที่ตนเองต้องรับผิดชอบ เราว่ารณรงค์ หรือ สนับสนุนให้เกิด นโยบาย #เรียนฟรี จะเป็นการสนับสนุนความเท่าเทียมทางการศึกษาที่แท้จริง จะดีกว่า

ต้องเรียกว่าการ #ยกเลิกการกู้กยศ ไม่ใช่ #ล้างหนี้กยศ ยกเลิกโครงการนี้ซะ แล้วรัฐต้องเข้ามาสนับสนุนการศึกษาประชาชนทุกคน ให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับ ล้างหนี้ไม่ได้ คนที่เป็นหนี้ก็ใช้หนี้ให้หมดไม่ใช้หนีหนี้ให้ผู้ค้ำซวยและยกเลิกไม่ให้ต้องมีการกู้หนี้ยืมสินเพื่อการศึกษาอีก

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ณ วันที่ 28 ก.พ. 2565 พบว่า ตั้งแต่ กยศ.เปิดให้กู้ยืมตั้งแต่ปี 2539 ได้ปล่อยกู้แก่นักเรียน นักศึกษาแล้ว 6,215,161 คน

ชำระหนี้แล้วเสร็จ 1,565,712 คน หรือคิดเป็น 25% ของผู้กู้ยืมทั้งหมด อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3,521,858 คน หรือ 57% อยู่ระหว่างการปลอดหนี้ 1,060,259 คน หรือ 17% และเสียชีวิต/ทุพพลภาพ 67,332 คน หรือ 1%

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button