ข่าวข่าวอาชญากรรม

ทลายแหล่งผลิตชุดตรวจ ATK ปลอมยี่ห้อดัง ขายผ่านออนไลน์ นายทุนจีนนำเข้า

ปคบ.บุกทลายโรงงานแพ็ก ATK ปลอม พบขายส่งออนไลน์ตั้งแต่เดือนเมษายน กลุ่มนายทุนจีนอยู่เบื้องหลัง ผู้ร่วมขบวนการไม่ต่ำกว่า 4 คน เร่งตรวจสอบเส้นทางนำเข้า

ข่าวบุกทลาย แหล่งผลิตชุดตรวจโควิดปลอม ที่จำหน่ายผ่านทางออนไลน์ จำนวนหลายยี่ห้อนั้น จากการร่วมกันแถลงข่าวผลการตรวจค้นวันนี้ (11 ส.ค.65) ของ ตำรวจสอบสวนกลาง ร่วมกับ ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ บก.ปคบ.

สถานที่ตั้งของโรงงานฉาวอยู่ภายในอาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งในอำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม และบ้านพักแห่งหนึ่งในจังหวัดนนทบุรี โดยเจ้าหนาที่ตำรวจชุดจับกุมสามารถยึดของกลางเป็น ชุดตรวจโควิด กว่า 8,000 กล่อง, กล่องบรรจุภัณฑ์ปลอมชุดตรวจโควิดกว่า 13,000 กล่อง, ตลับตรวจโควิดเกือบ 25,000 ชิ้น

น้ำยาตรวจโควิด กว่า 40,000 ชิ้น, ไม้แยงจมูก หลอดเก็บตัวอย่าง กระดาษเก็บตัวอย่างรวมกว่า 1 แสนชิ้น พร้อมหน้ากากอนามัยและอุปกรณ์ทางการแพทย์อีกจำนวนหนึ่ง รวมมูลค่ากว่า 2 ล้านบาท และจับกุมผู้ต้องหาได้ 2 คน รับว่าเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว

การตรวจค้นครั้งนี้มาจากการที่เจ้าหน้าที่ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคจำนวนมากที่ซื้อชุดตรวจ ATK ผ่านช่องทางออนไลน์ แต่กลับได้รับสินค้าที่มีลักษณะแตกต่างจากชุดตรวจที่ซื้อตามร้านขายยาและอุปกรณ์การแพทย์

ชุดตรวจโควิด ของปลอม
ภาพ Facebook ตำรวจสอบสวนกลาง

ตำรวจจึงสืบทราบจนพบแหล่งผลิตและแหล่งจัดเก็บผลิตภัณฑ์ดังกล่าว โดยผู้ลักลอบได้แยกนำเข้าอุปกรณ์ตรวจโควิด-19 แบบแยกชิ้นส่วนมาจากประเทศจีน จากนั้นได้สั่งกล่องบรรจุภัณฑ์และคู่มือภาษาไทยเลียนแบบชุดตรวจ ATK ยี่ห้อที่ได้รับความนิยมในท้องตลาด นำมาบรรจุลงกล่องเป็นชุดตรวจสำเร็จรูปปลอม เพื่อจำหน่ายแก่ประชาชนในราคาถูกกว่าท้องตลาด มีทั้งที่ขายทางออนไลน์ และส่งขายต่อตามร้านค้าในพื้นที่จังหวัดนครปฐม

เบื้องต้นพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา ขายเครื่องมือแพทย์ปลอม, ขายเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ได้รับใบรับแจ้งรายการละเอียด และใบรับจดแจ้ง, ขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับ

ขณะที่จากการสอบสวนพบว่ามีผู้ร่วมขบวนการไม่ต่ำกว่า 4 คน มีนายทุนคนจีนเป็นคนนำเข้าชิ้นส่วนชุดตรวจ ซึ่งตำรวจจะขยายผลผู้ร่วมขบวนการทั้งหมด และตรวจสอบช่องการทางนำเข้ามาต่อไป

ด้านนายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ระบุว่า ATK ปลอมที่ยึดได้ มีการนำยี่ห้อและเลขที่ อย. ของผู้อื่นมาใช้ อีกทั้ง ATK ปลอมเหล่านี้หากนำมาตรวจ อาจแสดงผลบวก หรือผลลบปลอมได้ ดังนั้นขอให้ประชาชนสังเกตชุดตรวจ ATK ที่ซื้อมาก่อน ว่าลอตการผลิต วันที่หมดอายุที่ระบุอยู่ที่ชุดตรวจในกล่อง กับที่บรรจุภัณฑ์ด้านนอก ตรงกันหรือไม่ หากไม่ตรงกันแสดงว่าเป็นของปลอม อีกทั้งควรซื้อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เช่น ร้านขายยา หรือร้านค้าที่ได้รับอนุญาตถูกต้องจาก อย.

พันตำรวจเอกเนติ วงษ์กุหลาบ ผู้กำกับการกองกำกับการ 4 กองบังคับการการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ระบุว่า เส้นทางการนำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์ตรวจ ATK ในครั้งนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ รวมถึงทาง ปคบ. จะขยายผลไปถึงกลุ่มนายทุนจีนที่เป็นผู้นำชิ้นส่วนส่งมายังบริษัทในประเทศไทยให้ทำการแพ็กและจัดจำหน่าย ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่ามีการนำเข้ามาจากเส้นทางใด

 

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button