เคลียร์ข้อสงสัย ไต้หวันเป็นประเทศไหม คำถามที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย One China หรือ นโยบายจีนเดียว ที่ทั่วโลกต้องเคยได้ยิน หาคำตอบเลย
คำถามคาใจของใครหลายคน ไต้หวันเป็นประเทศหรือเปล่า หลังการเยือนไต้หวันของ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เมื่อคืนวันที่ 2 ส.ค. 65 ที่ผ่านมา โดยตามกำหนดการ เพโลซีจะเข้าเยี่ยมสภาไต้หวัน และเข้าพบกับประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน รวมถึงกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยไต้หวันอีกด้วย
การเยือนไต้หวันของเจ้าหน้าที่ระดับสูงสหรัฐฯ ทำเอาสถานการณ์ระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาคุกรุ่นไม่ใช่น้อย โดยทางการจีนได้ออกมาย้ำเตือนว่าการเดินทางไปไต้หวันของแนนซี เพโลซีครั้งนี้ ถือเป็นการละเมิดนโยบายจีนเดียวหรือ One China ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีน-อเมริกาได้เลย วันนี้ทีมงาน The Thaiger จึงขอมาช่วยไขข้อข้องใจนี้ให้กับคุณเอง
ไต้หวันเป็นประเทศหรือไม่ ทำไมจีนถึงอยากรวมไต้หวัน
หลายคนคงเคยได้ยินข้อมูลทำนองว่า “ไต้หวันไม่ใช่ประเทศ”, “ห้ามเรียกไต้หวันว่าประเทศเด็ดขาด” กันใช่ไหมคะ ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรงเลยค่ะ ซึ่งก็คือ นโยบายจีนเดียว หรือ One China รวมถึงจีนที่ถือเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจ ทำให้เรื่องนี้ถึงเป็นที่ถกเถียงไม่จบสิ้น
จุดเริ่มต้นการปกครอง 2 ก๊ก จีนแผ่นดินใหญ่ – จีนไต้หวัน
หากพิจารณาตามข้อเท็จจริงแล้ว เกาะไต้หวัน (Taiwan) หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐจีน (Republic of China-ROC) เป็นเกาะทางทิศตะวันออกของจีนแผ่นดินใหญ่ ถือเป็นพื้นที่ปกครองพิเศษ มีกรุงไทเปเป็นเมืองหลวง เดิมมีชื่อว่า เกาะฟอร์โมซา (Formosa)
จุดเริ่มต้นที่ทำให้ไต้หวันและจีนเริ่มแยกออกเป็นคนละก๊ก เริ่มมาจากช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ญี่ปุ่นแพ้สงคราม จากนั้นก็เกิดสงครามภายในประเทศระหว่างพรรคก๊กมินตั๋งและฝ่ายจีนคอมมิวนิสต์ ผลคือฝ่ายจีนคอมมิวนิสต์ชนะ ทำให้พรรคก๊กมินตั๋ง นำโดยเจียงไคเช็คต้องลี้ภัยออกจากจีนแผ่นดินใหญ่
เจียงไคเช็คและพรรคพวกได้เดินทางมายังเกาะฟอร์โมซา หรือเกาะไต้หวันในปัจจุบัน จากนั้นได้สถาปนารัฐบาลของตนเองขึ้น โดยอ้างสิทธิ์ในการเป็นรัฐที่มีเอกราชสมบูรณ์และมีอำนาจอธิปไตยเป็นของตัวเองในปี ค.ศ. 1949 ทำให้ตอนนี้จีนแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มการปกครอง คือ จีนแผ่นดินใหญ่ที่ปกครองโดยจีนคอมมิวนิสต์ และจีนไต้หวัน
วันไชน่า นโยบายจีนเดียว เริ่มเข้ามามีบทบาท
นโยบายจีนเดียว หรือ One China Principle เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 1980 เป็นนโยบายที่เกิดขึ้นเพราะจีนต้องการให้ทั่วโลกยอมรับว่าจีนมีเพียงประเทศเดียว ทั้งฮ่องกงและไต้หวันถือเป็นของจีนทั้งหมด หากต้องการติดต่อทางการทูตอย่างเป็นทางการกับจีน ก็จะต้องยุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนไต้หวันนั่นเอง
นโยบายจีนเดียวนี้จีนเริ่มต้นยื่นข้อเสนอให้กับฮ่องกงก่อน แล้วต่อด้วยไต้หวัน เพื่อให้สองพื้นที่นี้กลับมารวมกับจีนแผ่นดินใหญ่ แลกกับการมีอำนาจทางการปกครองของตนเอง
ในที่สุดแล้วไต้หวันได้ปฏิเสธรับข้อเสนอวันไชน่านี้ เพราะต้องการเป็นเอกราชจากจีนโดยสมบูรณ์ เหตุการณ์เริ่มเข้มข้นขึ้นในปี 2004 จีนได้ประกาศใช้กฎหมายต่อต้านการแยกตัวกับไต้หวัน ซึ่งอนุญาตให้จัดการด้วยวิธีไม่สันติได้ หากระแคะระคายว่าไต้หวันพยายามแยกตัว
ความตึงเครียดยิ่งขมวดปมเพิ่มขึ้นเมื่อปี 2016 หลังรัฐบาลไต้หวัน ภายใต้การนำของประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน จากพรรค Democratic Progressive Party (DPP) เดินหน้านโยบายเป็นอิสระจากจีน โดยไช่ อิงเหวิน ได้ติดต่อกับโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีอเมริกา หลังจากที่สหรัฐอเมริกาตั้งนโยบายตัดขาดความสัมพันธ์กับไต้หวันอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 1979
สหรัฐอเมริกาและไต้หวันเริ่มกลับมาติดต่อกันมากขึ้น โดยอเมริกาแสดงออกชัดเจนว่าต้องการสนับสนุนไต้หวัน แน่นอนว่าจีนแผ่นดินใหญ่ไม่พอใจเป็นอย่างมาก โดยจีนเพิ่มความกดดัน ขู่ว่าจะคว่ำบาตรบริษัทระหว่างประเทศหากไม่ยืนยันว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน รวมถึงเกิดการประท้วงและใช้ความรุนแรงในฮ่องกง เนื่องมาจากประชาชนต้องการต่อต้านนโยบาย One China
รัฐบาลชุดปัจจุบันของอเมริกา ซึ่งนำโดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็ยังคงยืนยันชัดเจนว่าจะสนับสนุนไต้หวัน และการเยือนไต้หวันครั้งล่าสุดของ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เจ้าของฉายา Crazy Nancy ก็ได้เรียกความตึงเครียดระหว่างจีนและอเมริกาให้ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก ท่ามกลางการจับตาของคนทั่วโลก
สรุปแล้ว ไต้หวันเป็นประเทศไหม
เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ทางการเมืองและการทูตในปัจจุบัน อาจพูดได้ไม่เต็มปากนักว่าไต้หวันเป็นประเทศ เนื่องจากมีสมาชิกของสหประชาชาติเพียง 25 ประเทศจาก 200 ประเทศที่ยอมรับไต้หวันว่าเป็นประเทศเอกราช
จากข้อเท็จจริงข้างต้น ไต้หวันจึงถือเป็นเพียงพื้นที่ปกครองพิเศษ เนื่องจากอำนาจทางการเมืองของจีนแผ่นดินใหญ่ รวมถึงนโยบายจีนเดียวหรือ One China ที่ทรงอิทธิพล แม้ว่าประชาชนไต้หวันกว่า 23 ล้านคน และบางประเทศจะยอมรับว่าไต้หวันเป็นประเทศก็ตาม
- ‘แนนซี เพโลซี่’ ถึงทำเนียบไต้หวัน ลั่นไต้หวันเป็นสังคมอิสระ.
- สรุปดราม่า แนนซี เพโลซี เยือนไต้หวัน เพราะเหตุใดจีนถึงเดือดดาล?
- โฆษกสถานทูตจีน ชี้แจงเรื่อง ‘เปโลซี’ เยือนไต้หวัน.