สุขภาพและการแพทย์

สธ. ลงนามสัญญาจัดหาแอนติบอดีสำเร็จรูป (LAAB)

รมว. สธ. เป็นประธานในพิธีการลงนามสัญญาจัดหาแอนติบอดีสำเร็จรูป (LAAB) ระหว่างกรมควบคุมโรคและแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 2.5 แสนโดส

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีลงนามสัญญาจัดหาแอนติบอดีสำเร็จรูป แบบ Long Acting Antibodies ระหว่างกรมควบคุมโรคและแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 2.5 แสนโดส เพื่อใช้ป้องกันการติดเชื้อในกลุ่มผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ปลูกถ่ายอวัยวะ หรือปลูกถ่ายไขกระดูกและได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงอาการรุนแรงและเสียชีวิตจากโควิด 19 โดยเปลี่ยนจากวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจำนวนหนึ่งมาเป็น LAAB ด้วยกรอบงบประมาณเดิม ไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม

วันนี้ (6 กรกฎาคม 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีลงนามสัญญาจัดหาแอนติบอดีสำเร็จรูป แบบ Long Acting Antibodies เพื่อการป้องกันโควิด 19 ระหว่าง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และนายเจมส์ ทีก ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด โดยมี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารทั้ง 2 หน่วยงานเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน

นายอนุทินกล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคได้ลงนามจัดหาวัคซีนโควิด 19 ของแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดไวรัลเวกเตอร์ เพื่อเข้ามาสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่คนในประเทศ อย่างไรก็ตามยังมีประชากรบางกลุ่มที่รับวัคซีนแล้ว ร่างกายไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีหรือภูมิคุ้มกันตกลงอย่างรวดเร็ว ทำให้มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิดแล้วป่วยอาการหนักและเสียชีวิตได้ ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ปลูกถ่ายอวัยวะ หรือปลูกถ่ายไขกระดูกและได้รับยากดภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่มีการเสียชีวิตจากโรคโควิด 19 ทุกวัน

ดังนั้น ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการจัดหาแอนตีบอดีสำเร็จรูป แบบ Long Acting Antibodies มาใช้ในการดูแลกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว เพื่อป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตจากโควิด 19

สำหรับ LAAB เป็นแอนติบอดีที่ออกฤทธิ์ยาว มีส่วนประกอบ 2 ชนิด คือ Tixagemab 150 มิลลิกรัม และ Cilgavimab 150 มิลลิกรัม ผ่านการรับรองใช้แบบในภาวะฉุกเฉินที่สหรัฐอเมริกาและอังกฤษแล้ว ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของประเทศไทยได้อนุมัติให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินเช่นกันเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565 มีข้อบ่งใช้ในผู้ที่ภูมิคุ้มกันต่ำ ตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไป มีน้ำหนักตัวไม่น้อยกว่า 40 กิโลกรัม โดยให้ก่อนการสัมผัสโรค ด้วยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อทุก 6 เดือน มีประสิทธิผลร้อยละ 83 ในการลดความเสี่ยงอาการรุนแรงของโควิด และจากการศึกษาพบว่ามีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์

นายอนุทินกล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้จะจัดหาแอนตีบอดีสำเร็จรูป เข้ามาจำนวนกว่า 2.5 แสนโดส โดยไม่ต้องใช้งบประมาณในการจัดหาเพิ่มเติม เนื่องจากเป็นการลงนามขอปรับสัญญากับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) เพื่อเปลี่ยนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าบางส่วนมาเป็น LAAB ภายในกรอบวงเงินงบประมาณเดิมที่ ครม.อนุมัติ ซึ่งทำให้เรามีทั้งวัคซีนและแอนตีบอดีสำเร็จรูปมาดูแลประชาชนได้ครอบคลุมมากขึ้น

 

แหล่งที่มาของข่าว : รัฐบาลไทย

สามารถติดตามข่าวสุขภาพเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวสุขภาพ

 

 

N. Siripariyasak

นักเขียนคอนเทนต์ จับประเด็นด้านเศรษฐกิจ-การเงิน, เทคโนโลยี, ไอที และเกมส์ อัปเดตข่าวทั้งจากในประเทศไทย และต่างประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button