ประวัติ ‘สะพานพิบูลสงคราม’ จากนามของ ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’
The Thaiger พาส่องประวัติ “สะพานพิบูลสงคราม” หลังเกิดเหตุดราม่าถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “สะพานท่าราบ” ทั้ง 2 ชื่อนั้นมีความเชื่อมโยงกันอย่างไร ที่มาของสะพานพิบูลสงครามและท่าราบมาจากไหน ทำไมถึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การเมืองไทย วันนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักสะพานพิบูลสงคราม และที่มาของคำว่า ท่าราบ ไปพร้อม ๆ กัน
หลังจากที่เกิดเหตุการณ์มือดีนำป้ายชื่อสะพานท่าราบมาปิดทับชื่อสะพานพิบูลสงคราม เมื่อช่วงวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมานั้น ทำให้ประวัติศาสตร์การเมืองไทยถูกขุดคุ้ยขึ้นมาพูดถึงอีกครั้ง ทั้งที่มาของชื่อสะพานจากชื่อของ “หลวงพิบูลสงคราม” และคำว่า “ท่าราบ” ที่ยึดโยงกับ “กบฏบวรเดช” วันนี้ทาง The Thaiger จะพาทุกคนไปทำความรู้จักสถานที่สำคัญอันเป็นหนึ่งในหมุดหมายและหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่าง “สะพานพิบูลสงคราม” กันให้มากขึ้น
ประวัติ สะพานพิบูลสงคราม หมุดหมายสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทย
ประวัติ ‘สะพานพิบูลสงคราม’ ชื่อนี้มีที่มาจากไหน
สำหรับชื่อของ “สะพานพิบูลสงคราม” นั้นมีที่มาจากนามสกุลของ “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” ซึ่งมีบรรดาศักดิ์เดิมว่า “หลวงพิบูลสงคราม” ส่วนชื่อเดิมคือ “แปลก ขีตตะสังคะ” เคยดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ของประเทศไทย เกิดเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2440 เสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2507 สิริรวมอายุได้ประมาณ 67 ปี
ส่วนที่มาของชื่อ “แปลก” มีเหตุเนื่องมาจากในช่วงที่มารดาได้คลอดจอมพล ป. ออกมานั้น พบว่าร่างกายของจอมพล ป. มีบางส่วนที่ผิดปกติไม่เหมือนทารกคนอื่น ๆ นั่นก็คือ ลักษณะของหูทั้งสองข้างที่อยู่ต่ำกว่าดวงตา ซึ่งโดยปกติแล้วหูทั้งสองข้างของมนุษย์จะอยู่ในระนาบเดียวกับดวงตาค่อนไปทางด้านบน
บทบาทของจอมพล ป. ในเหตุการณ์ “การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475” หรือการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของคณะราษฎร กลุ่มคนที่ทำการเปลี่ยนแปลงหน้าประวัติศาสตร์เมืองไทย นับได้ว่าจอมพล ป. เป็นบุคคลหนึ่งที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ไทยเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะในฐานะใดก็ตาม
แม้ว่าบั้นปลายชีวิตของจอมพล ป. จะต้องถึงแก่อสัญกรรมในแผ่นดินอื่นก็ตาม แต่บทบาทและเศษซากทางประวัติศาสตร์จากการบริหารประเทศของจอมพล ป. ก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งโฉมหน้าประวัติศาสตร์ไทยที่ไม่ควรถูกลบเลือนไป ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม
‘สะพานท่าราบ’ กับร่องรอยประวัติศาสตร์การเมืองไทย
หลายคนอาจเกิดความสงสัยเกี่ยวกับคำว่า “ท่าราบ” นั้นมีนัยของการเมืองที่ยึดโยงกับจอมพล ป. อย่างไร จากการค้นหาข้อมูลของทาง The Thaiger คำว่า ท่าราบ นั้นมาจากตำบลหนึ่งในจังหวัดเพชรบุรี อันเป็นสถานที่อยู่อาศัยของต้นตระกูลของ “พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์” ผู้เป็นประธานองคมนตรีคนปัจจุบัน
เนื่องจากมารดาของพลเอกสุรยุทธ์นั้น (นางอัมโภชน์ ท่าราบ) เป็นบุตรสาวของ “พระยาศรีสิทธิสงคราม” หรืออีกชื่อหนึ่งว่า “ดิ่น ท่าราบ” ซึ่งเป็นนายทหารคนสำคัญของกลุ่ม “กบฏบวรเดช” ที่นำทีมโดย “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช” และจากเหตุการณ์กบฏบวรเดชในครั้งนั้นทำให้พระยาศรีสิทธิสงคราม หรือ ดิ่น ท่าราบ ถูกฝ่ายรัฐบาลยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2476 ณ จังหวัดสระบุรี ใกล้กับสถานีรถไฟหินลับ
สถานที่ตั้ง ‘สะพานพิบูลสงคราม’ กับพื้นที่รวมกลุ่มทางการเมือง
สถานที่ตั้งของสะพานพิบูลสงครามนั้น ตั้งอยู่ใกล้กับบริเวณ “แยกเกียกกาย” เขตดุสิต โดยเป็นพื้นที่รับผิดชอบของสำนักการโยธากรุงเทพมหานคร อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ใกล้เคียงกับสถานที่สำคัญของประเทศไทยอย่าง “สัปปายะสภาสถาน” หรืออาคารรัฐสภาใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณมุมตะวันตกเฉียงใต้ของสี่แยกเกียกกาย หากใครต้องการเดินทางไปที่สะพานพิบูลสงครามก็สามารถโดยสารด้วยรถไฟฟ้า MRT ไปลงที่สถานีบางโพ และเดินเท้าใช้เวลาประมาณ 16 นาที
และทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์สะพานพิบูลสงคราม หนึ่งในสถานที่สำคัญของการเมืองไทย และจากกรณีการเปลี่ยนชื่อสะพานในครั้งนี้ก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นการพยายามลบทิ้งร่องรอยสำคัญของหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย โดยล่าสุดทางผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร “นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ก็ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาการนำคนผิดมาลงโทษ เนื่องจากเป็นการทำลายทรัพย์สินของทางราชการ
สำหรับในครั้งหน้าจะมีประเด็นหรือเกร็ดความรู้เกี่ยวกับเรื่องอะไรมาเล่าให้ฟังอีก ก็อย่าลืมติดตามทาง The Thaiger กันด้วยนะคะ