รู้จัก สมรสเท่าเทียม คืออะไร กฎหมายเพื่อความเท่าเทียมของกลุ่ม LGBTQIA+ 2566 ซึ่ง ก้าวไกล ยืนยันมีใน MOU เตรียมเข้าสภาและประกาศใช้จริงในไทยแล้ว
หลังจากการเรียกร้องและผลักดันมาอย่างยาวนานสำหรับ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม กฎหมายเพื่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQIA+ ในประเทศไทย ในที่สุด สมรสเท่าเทียม ก็เข้าใกล้ความเป็นจริงมากขึ้นแล้ว
โดยวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา พิธา ลิ้มเจิรญรัตน์ ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 จากพรรคก้าวไกล ได้ประกาศในแถลงการลงนามข้อตกลงร่วม หรือ MOU ว่าจะมีการรับรองสิทธิ์สมรสเท่าเทียม แต่ไม่ได้เป็นการบังคับใช้ในกลุ่มศาสนา เพียงแต่รับรองสิทธิ์ให้กลุ่ม LGBTQIA+ ว่าจะได้รับสิทธิ์ตามกฎหมายไม่ต่างจากคู่สมรสชาย-หญิง
ข่าวอันน่ายินดีนี้ทำให้แฮชแท็ก #สมรสเท่าเทียม พุ่งทะยานติดเทรนด์ประเทศไทย หลังจากที่ผลักก้าวไกลผลักดันร่างสมรสเท่าเทียมวาระแรกเข้าสภาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 แต่ถูกปัดตกเรื่อยมา จนกระทั่งวันที่ก้าวไกลจะได้ตั้งรัฐบาลและประกาศใช้สมรสเท่าเทียมได้จริงเสียที
วันนี้ The Thaiger จึงขอมาแตกประเด็นให้ผู้อ่านได้เข้าใจกันอีกสักรอบว่า สมรสเท่าเทียม คืออะไร มีรายละเอียดและมอบสิทธิให้แก่คู่รักชาว LGBTQIA+ อย่างไรบ้าง รวมถึงเส้นทางการเดินทางของกฎหมายฉบับนี้ว่า อีกกี่ขั้นตอนจึงจะประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ มาติดตามไปพร้อมกันได้เลยค่ะ
รู้จัก พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม คืออะไรกันแน่
สมรสเท่าเทียม คือร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์สมรสเท่าเทียม หรือ ร่างแก้ ป.พ.พ. ที่ยืนอยู่บนแนวคิดการเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะเรื่องการสมรสของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQIA+ ในสังคมไทย
หลักการคือให้บุคคลสองคนที่เป็นเพศเดียวกัน สามารถสมรสได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยร่างกฎหมายฉบับที่นำเข้าวาระการประชุมนี้ นำเสนอโดยพรรคก้าวไกล โดยมีรายละเอียดสรุปเข้าใจง่าย ๆ ดังนี้
– สามารถหมั้นและสมรสกันได้ทุกเพศ สถานะทางกฎหมายของบุคคลทั้งสองฝ่ายที่สมรสกัน จะถูกเรียกว่า คู่สมรส
– อนุญาตให้หมั้นได้ โดยต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 17 ปีบริบูรณ์
– สามารถจดทะเบียนสมรสได้ โดยต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ หากมีอายุต่ำกว่า 20 ปี ต้องได้รับความยินยอมจากพ่อแม่
– สามารถจดทะเบียนกับชาวต่างชาติได้
– การมอบของหมั้น ฝ่ายผู้หมั้นจะมอบให้แก่ผู้รับหมั้น หรือทั้งสองฝ่ายแลกเปลี่ยนของหมั้นกันได้
– การมอบสินสอด ฝ่ายผู้หมั้นมอบให้แก่บิดามารดาของผู้รับหมั้น หรือสามารถมอบให้แก่บิดามารดาของทั้งสองฝ่ายได้
– สามารถใช้นามสกุลร่วมกันได้
– สามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้
– สามารถรับมรดกของคู่สมรสอีกฝ่ายได้
– สามารถจัดการทรัพย์สินร่วมกัน
– การเข้าถึงสิทธิตามกฎหมายของคู่สมรส จะได้กรณีที่กฎหมายกำหนดให้ เช่น สิทธิในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล, การรับประโยชน์ทดแทนจากประกันสังคม
– สามารถอุ้มบุญได้
– สามารถเซ็นอนุญาตรักษาพยาบาลอีกฝ่ายได้
– สามารถจัดการศพของอีกฝ่ายได้
ขั้นตอนสู่การประกาศใช้กฎหมาย พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม
หลังจากสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับร่างหลักการ จากจำนวนผู้ลงมติ 406 คน มีผู้เห็นด้วยจำนวน 210 คน ไม่เห็นด้วย 180 คน งดออกเสียง 12 คน และไม่ลงคะแนนเสียง 4 คน เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา นับเป็นก้าวที่ทำให้มีความหวังว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม LGBTQIA+ หรือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศจะมีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นและเปิดกว้างมากขึ้น
ล่าสุดการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างวันที่ 23 – 24 พฤศจิกายน 2565 ทำให้ผู้คนในสังคม รวมถึงพี่น้องชาว LGBTQIA+ ต่างก็จับตามองว่า พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม จะได้นำเข้าสภาและลงมติเพื่อไปขั้นตอนต่อไปหรือไม่
แต่นี่ก็เป็นเพียงอีกก้าวเล็ก ๆ เท่านั้น เพราะกว่าที่จะมีการประกาศใช้กฎหมายสักหนึ่งฉบับ จะต้องมีการผ่านการพิจารณาอีกหลายขั้นตอน ดังนี้ค่ะ
1. สภาผู้แทนราษฎรลงมติรับร่างหลักการ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม
2. จากนั้นจะมีการแต่งตั้งกรรมาธิการ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม
3. ลำดับต่อไป สภาผู้แทนราษฎรจะลงมติเห็นชอบ หากผลโหวตออกมาว่าไม่เห็นชอบ ร่างกฎหมายดังกล่าวจะตกไป
4. หากสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม จะถูกส่งต่อให้สมาชิกวุฒิสภาลงมติเห็นชอบ
5. จากนั้นจะมีการแต่งตั้งกรรมาธิการ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม
6. สมาชิกวุฒิสภาจะลงมติ หากเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม จะถูกส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญ
*กรณีสมาชิกวุฒิสภาลงมติไม่เห็นชอบ จะมีการส่งคืนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ยับยั้งไว้ 180 วัน หากเห็นชอบอีกครั้งร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ก็จะถูกนำส่งศาลรัฐธรรมนูญ แต่หากไม่ชอบก็จะตกไป
7. หากร่างกฎหมาย พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ไม่ขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญ จะมีการส่งให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย
8. ลำดับสุดท้ายคือออกประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา บังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป
โล่งใจกันไปเปลาะหนึ่งแล้วหลังจากที่มีการรับรองว่า พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม จะประกาศใช้และรับรองสิทธิ์ให้คู่สมรสทุกเพศอย่างแน่นอน ทันทีที่ ก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคแกนนำสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ทีมงานไทยเกอร์ขอแสดงความยินดีล่วงหน้ากับชาว LGBTQIA+ ที่จะได้รับสิทธิ์ที่ควรจะได้เสียที ความตั้งใจและพยายามของทุกคนไม่สูญเปล่าจริง ๆ ค่ะ