การเงิน

พันธบัตรออมทรัพย์ ออมเพิ่มสุข เตรียมจำหน่ายผ่าน แอปเป๋าตัง วันที่ 13 มิ.ย. นี้

กระทรวงการคลัง เตรียมจำหน่าย พันธบัตรออมทรัพย์ ออมเพิ่มสุข ผ่าน แอปเป๋าตัง ภายในวันที่ 13 มิ.ย. 2565 นี้ วงเงิน 5.5 หมื่นล้านบาท

(30 พ.ค. 2565) กระทรวงการคลังจะเปิดจำหน่าย พันธบัตรออมทรัพย์ ออมเพิ่มสุข วงเงิน 55,000 ล้านบาท ให้แก่ประชาชน พร้อมจ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน โดยจำหน่ายให้กับประชาชนผ่านวอลเล็ต สบม. บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง (แอปเป๋าตัง) เริ่มวันที่ 13 มิถุนายน 2565 และจำหน่ายผ่านธนาคารตัวแทนจำหน่ายทั้ง 4 แห่ง ทั่วประเทศ เริ่มวันที่ 15 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ตลาดตราสารหนี้ของไทยรวมถึงสินทรัพย์ในทุกตลาดทั่วโลกได้รับผลกระทบจากความผันผวนและความกังวลจากสถานการณ์โลก สบน. จึงเสนอขายพันธบัตรออมทรัพย์ซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย เพื่อเป็นทางเลือกในการออมการลงทุนและปรับพอร์ตการลงทุนสำหรับนักลงทุน จำหน่าย 2 รุ่นอายุ อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 2.50 ต่อปี ซึ่งผู้ลงทุนจะมีรายรับสม่ำเสมอจากดอกเบี้ยและได้รับเงินต้นคืนเมื่อครบกำหนด

โดยเงื่อนไขการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ รุ่นออมเพิ่มสุขเป็นดังนี้

1. รุ่นออมเพิ่มสุขบนวอลเล็ต สบม. วงเงิน 10,000 ล้านบาท ให้แก่ประชาชน 2 รุ่น ได้แก่

  • รุ่นอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดเฉลี่ยร้อยละ 2.90 ต่อปี
  • รุ่นอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดเฉลี่ยร้อยละ 3.60 ต่อปี

โดยจะทำการจ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน ซื้อได้ตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป (ผู้เยาว์จะต้องลงทะเบียนในวอลเล็ต สบม. บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง และไปยืนยันตัวตนพร้อมผู้ปกครองเพื่อกรอกเอกสารให้ความยินยอม ณ สาขาธนาคารกรุงไทยสำหรับการซื้อครั้งแรก) ลงทุนได้ตั้งแต่ 100 บาท – 10 ล้านบาท จำหน่ายตั้งแต่วันที่ 13–30 มิถุนายน 2565

ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเป๋าตังเพื่อลงทะเบียน ยืนยันตัวตน และเติมเงินเข้าวอลเล็ต สบม. ผ่านพร้อมเพย์จากทุกธนาคาร หรือผูกบัญชีธนาคารกรุงไทยกับ วอลเล็ต สบม. รวมถึงเติมเงินด้วย Wallet ID ได้ที่เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา เพื่อเตรียมซื้อพันธบัตรได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลการใช้งานวอลเล็ต สบม. ได้ที่ Call Center โทร. 02-111-1111 หรือที่ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา

2. รุ่นออมเพิ่มสุข วงเงินรวม 45,000 ล้านบาท จำหน่ายให้แก่ประชาชนและนิติบุคคลไม่แสวงหากำไรที่กระทรวงการคลังกำหนด ผ่านธนาคารตัวแทนจำหน่าย 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ แบ่งการจำหน่ายเป็น 2 ช่วง

  • ช่วงที่ 1 จำหน่ายให้กับประชาชนแบบจำกัดวงเงินซื้อ
  • ช่วงที่ 2 จำหน่ายให้กับประชาชนและนิติบุคคลไม่แสวงหากำไรที่กระทรวงการคลังกำหนดแบบไม่จำกัดวงเงินซื้อ ลงทุนได้ตั้งแต่ 1,000 บาท

ทั้งนี้ หากเป็นผู้เยาว์ต้องมีบัญชีธนาคารตัวแทนจำหน่ายและได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองก่อน โดยวันจำหน่าย วงเงิน และรุ่นอายุเป็นดังนี้

• ช่วงที่ 1 (15-19 มิถุนายน 2565) วงเงิน 40,000 ล้านบาท เปิดจำหน่ายให้แก่ประชาชนทั่วไป โดยซื้อได้ไม่เกิน 10 ล้านบาท จำหน่าย 2 รุ่น ได้แก่ รุ่นอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดเฉลี่ย ร้อยละ 2.90 ต่อปี และรุ่นอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดเฉลี่ยร้อยละ 3.60 ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน ผู้สนใจสามารถซื้อได้ผ่านช่องทาง Counter Internet Banking และ Mobile Banking ของธนาคารตัวแทนจำหน่ายทั้ง 4 แห่ง

• ช่วงที่ 2 (20-30 มิถุนายน 2565) จำหน่ายให้แก่ประชาชนและนิติบุคคลไม่แสวงหากำไรตามที่กระทรวงการคลังกำหนด แบบไม่จำกัดวงเงินการซื้อ โดยจำหน่ายให้ประชาชนในวงเงินคงเหลือจากช่วงที่ 1 ด้วยรุ่นอายุและเงื่อนไขเดียวกัน และจำหน่ายให้นิติบุคคลไม่แสวงหากำไรตามที่กระทรวงการคลังกำหนด วงเงิน 5,000 ล้านบาท รุ่นอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดเฉลี่ยร้อยละ 3.30 ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน ซึ่งในรอบการจำหน่ายนี้ ได้เพิ่มนิติบุคคลอาคารชุด และนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรเป็นผู้มีสิทธิ์ซื้อด้วย โดยจะพิจารณาการเป็นผู้มีสิทธิ์ซื้อจากข้อบังคับนิติบุคคลที่จดทะเบียนกับกรมที่ดินหรือสำนักงานเขต และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ วงเงินที่จำหน่ายบนวอลเล็ต สบม. และธนาคารตัวแทนจำหน่ายไม่นับรวมกัน ผู้ลงทุนจึงสามารถลงทุนได้ทั้ง 2 ช่องทาง และกระทรวงการคลังสามารถปรับเพิ่ม/ลดวงเงินทั้ง 2 รุ่นที่จำหน่ายผ่านธนาคารตัวแทนจำหน่ายได้ตามความเหมาะสม ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับเงื่อนไขและวิธีการซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านช่องทางต่างๆ ได้จากธนาคารตัวแทนจำหน่ายทั้ง 4 แห่ง

 

แหล่งที่มาของข่าว : Facebook Page – กระทรวงการคลัง

สามารถติดตามข่าวการเงินเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวการเงิน

 

 

N. Siripariyasak

นักเขียนคอนเทนต์ จับประเด็นด้านเศรษฐกิจ-การเงิน, เทคโนโลยี, ไอที และเกมส์ อัปเดตข่าวทั้งจากในประเทศไทย และต่างประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button