ข่าวข่าวอาชญากรรม

เปิดข้อกฎหมายกรณี ลูกฆ่าแม่ หลังเหตุสะเทือนขวัญวางแผนฆ่าแม่ที่สมุทรปราการ

เด็ก 14 ฆ่าแม่ ต้องรับโทษอะไรบ้าง หลังคดีสะเทือนขวัญ วางแผนฆ่าแม่ กับแฟนฟนุ่ม 16 ปี ก่อเหตุสุดสลดปลิดชีพแม่บังเกิดเกล้า โทษหนักสุดกรณีเยาวชนทำความผิดอาญาร้ายแรง คืออะไร ดูที่นี่

เด็ก 14 ฆ่าแม่ คดีสะเทือนขวัญ สุดสลด ที่เป็นข่าวเผยแพร่เกือบทุกสำนัก ก่อนก่อเหตุมีการวางแผนร่วมกับแฟนหนุ่ม วัย 16 ปี โดยปมก่อเหตุเพราะถูกผู้เป็นแม่บังคับห้ามคบหาและไม่ให้เจอกัน

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ภายในโครงการบ้านเอื้ออาทรขจรวิทย์ ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลีจ.สมุทรปราการ เจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งเหตุ เมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยในส่วนความคืบหน้าของคดี เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวผู้ก่อเหตุทั้ง 2 รายไว้ที่ สภ.บางพลี เวลานี้อยู่ระหว่างเตรียมรอสอบปากคำอย่างละเอียดกับเจ้าหน้าที่สหวิชาชีพ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

คดีนี้กลายเป็นประเด็นร้อนที่สังคมพากันให้ความสนใจและวิพากวิจารณ์จำนวนมาก โดยวันเกิดเหตุระหว่างที่เตรียมควบคุมตัวผู้ต้องหาไปโรงพัก ปรากฏ ชาวบ้านจำนวนมากต่างเข้ามาลุมล้อมบริเวณที่เกิดเหตุ บางส่วนมีการเข้ามาทำร้ายผู้ก่อเหตุด้วยความโกธแค้นจนเจ้าหน้าที่อาสาบางรายได้รับบาดเจ็บจากการโดนลูกหลง ส่วนแฟนหนุ่มมือมีดที่ลงมือก่อเหตุ เจ้าหน้าที่ต้องพาตัวออกด้านหลังตึก เพื่อเลี่ยงการถูกรุมประชาทัณฑ์

ความสะเทือนใจหนนี้ยังนำมาซึ่งการเปิดข้อกฎหมายที่หลายคนสงสัย เกี่ยวกับบทลงโทษกรณี ลูกฆ่าแม่ จะต้องเผชิญกับบทลงโทษและข้อหาอะไรบ้าง ?

เปิดข้อกฎหมายกรณี เด็ก 14 ฆ่าแม่ กฎหมายเยาวชน ล่าสุด

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 ผู้ใดฆ่าบุพการี ต้องระวางโทษประหารชีวิต

อย่างไรก็ตามในกรณีนี้ ที่ผู้ก่อเหตุอายุ 14 ปี ไม่ต้องรับโทษตามกฎหมายเลย แต่ให้ศาลมีอำนาจดำเนินการ โดยเรื่องความรับผิดทางอาญาของเด็กและเยาวชนนี้ ประมวลกฎหมายอาญาได้แบ่งกลุ่มอายุของเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดไว้

โดย เด็กอายุ 10 ปี ไม่เกิน 15 ปี กระทำความผิดอาญาได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ โดยถือว่าเด็กนั้นอาจเป็นผู้กระทำความผิดได้ แต่อย่างไรก็ตาม เด็กในวัยนี้กฎหมายก็ยังถือว่ามีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีอย่างจำกัดเช่นเดียวกัน จึงให้มีการยกเว้นโทษแก่เด็กที่กระทำ ความผิด โดยห้ามมิให้ลงโทษทางอาญาแก่เด็กนั้นเลย แต่ทั้งนี้หมายความว่า การกระทำของเด็กนั้นยังเป็นความผิดกฎหมายอาญาอยู่ เพียงแต่กฎหมายไม่เอาโทษเท่านั้น

อย่างไรก็ตามสำหรับเด็กอายุ 10 ปี ไม่เกิน 15 ปี ที่กระทำความผิดนี้ กฎหมายก็เปิดช่องให้ศาลใช้ดุลพินิจที่จะใช้ “วิธีการสำหรับเด็ก”ได้ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำหรับปรับปรุงเด็กให้เป็นคนดี และไม่กระทำความผิดขึ้นอีกในอนาคต

วิธีการสำหรับเด็ก ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ได้แก่

  1. การว่ากล่าวตักเตือนแก่เด็กที่กระทำความผิด หรือแก่บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กอาศัยอยู่
  2. การเรียกบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กอาศัยอยู่มาทำทัณฑ์บนว่าจะระวังไม่ให้เด็กก่อเหตุร้ายขึ้นอีก
  3. การใช้วิธีการคุมประพฤติสำหรับเด็ก โดยมีพนักงานคุมประพฤติคอยควบคุมสอดส่อง
  4. ส่งตัวไปอยู่กับบุคคลหรือองค์กรการที่ยอมรับเด็กเพื่อสั่งสอนอบรม
  5. ส่งตัวไปโรงเรียนหรือสถานฝึกและอบรม หรือสถานที่ตั้งขึ้นเพื่อฝึกและอบรมเด็ก( แต่ไม่ให้อยู่จนอายุเกิน 18 ปี)

ส่วนในเคสของแฟนหนุ่ม อายุ 16 ปี จะเข้าในกลุ่มเด็กอายุ 15 ปี ไม่เกิน 18 ปี กระทำความผิด กฎหมายถือว่ามีความรู้สึกผิดชอบตามสมควรแล้ว แต่ก็ไม่อาจถือว่ามีความรู้สึก ผิดชอบอย่างเต็มที่ เช่น กรณีผู้ใหญ่กระทำความผิด กฎหมายจึงเปิดโอกาสให้ศาลใช้ดุลพินิจได้ โดยศาลที่พิจารณาคดีอาจเลือกลงโทษทางอาญา แก่เด็กนั้นเช่นเดียวกับกรณีคนทั่วไป (แต่ให้ลดโทษลงกึ่งหนี่งของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ก่อน)หรือศาลอาจจะเลือกใช้ “วิธีการสำหรับเด็ก”อย่างที่ใช้กับเด็กอายุ 10 ปี ไม่เกิน 15ปีก็ได้

ทั้งนี้การที่ศาลจะใช้ดุจพินิจลงโทษเด็กนั้น หรือเลือกใช้ “วิธีการสำหรับเด็ก”ศาลต้องพิจารณาถึง “ความรู้ผิดชอบและสิ่งอื่นทั้งปวง เกี่ยวกับผู้นั้น”เพื่อพิจารณาว่าสมควรจะเลือกใช้วิธีใดระหว่างการลงโทษทางอาญา กับการใช้วิธีการสำหรับเด็ก และถ้าศาลเห็นสมควรลงโทษทางอาญา ศาลก็ต้องลดโทษลงกึ่งหนึ่งของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ก่อนด้วย

อ้างอิงข้อมูล : ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button