โรคผมร่วงเป็นหย่อม เกิดจากอะไร วิธีรักษา
จากกรณี ดราม่าเดือด วิลล์ สมิธ ตบหน้า คริส ร็อก กลางเวทีออสการ์ขณะถ่ายทอดสดทั่วโลก สาเหตุจากไปเล่นมุกล้อเลียนทรงผม ภรรยาวิลสมิธ jada pinkett ที่ต้องโกนหัว อันเนื่องมาจาก โรคผมร่วงเป็นหย่อม วันนี้ The Thaiger จะมาพาทุกคนไปหาคำตอบด้วยกันว่าโรคผมร่วงเป็นหย่อม เกิดจากอะไร เป็นแล้วต้องรักษายังไงให้หายดี ใครพร้อมแล้วอย่ารอช้า รีบไปศึกษาพร้อม ๆ กันเลย
โรคผมร่วงเป็นหย่อมคืออะไร
โรคผมร่วงเป็นหย่อม หรือ Alopecia Areata เป็นหนึ่งในอาการทางผิวหนังที่เห็นผลกระทบได้ชัด จากการหลุดร่วงของเส้นขน จากบริเวณใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น ผม คิ้ว หรือหนวด ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ และมักพบในผู้ป่วยทุกเพศทุกวัย บางครั้งอาจเป็นแบบเฉียบพลัน โดยหากผู้ที่มีอาการ อายุน้อยกว่า 30 ปี ควรรีบพบแพทย์
ส่วนอาการของโรคนี้ จะแตกต่างกันไปหลายทาง เช่น บางคนมีอาการผมร่วงเป็นหย่อม ทรงกลม มีขอบแบ่งโซนผมชัดเจน เกิดขึ้นได้ในพื้นที่หลายตำแหน่งทั่วร่างกาย โดยส่วนมากจะไม่ค่อยมีอาการใด ๆ หรือบางรายอาจแสบ ๆ คัน ๆ บริเวณผิวหนังบ้าง อีกทั้งบางคน อาจมีความผิดปกติบริเวณเล็บได้เช่นเดียวกัน
สาเหตุโรคผมร่วงเป็นหย่อมเกิดจาก
ต้นเหตุของโรค หรืออาการนี้ ไม่ได้มีการระบุที่แน่ชัด รู้เพียงแค่ว่ามีภูมิคุ้มกันร่างกายที่ทำงานผิดปกติ โดยหันมาทำลายรูขุมขนบนร่างกายตัวเอง ซึ่งร้อยละ 20 ของผู้ที่มีอาการ มักมีประวัติคนในครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับโรคนี้ จึงเชื่อว่าโรคผมร่วงเป็นหย่อมสามารถถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรมได้
แต่หากใครที่มีอาการผมร่วง ไม่ต้องกังวลใจไป เพราะหากอาการของโรคนี้เบาหรือสงบลง ขนหรือผมที่ร่วงหายไป ก็จะสามารถกลับมาขึ้นได้อีกตามปกติ แต่ทั้งนี้ หากใครป่วยเป็นโรคนี้ ก็อาจตรวจพบโรคเหล่านี้เป็นโรคร่วมได้ คือ ด่างขาว ภูมิแพ้ และต่อมไทรอยด์อักเสบ
ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว โรคผมร่วงเป็นหย่อมแบบนี้ สามารถแบ่งย่อย ออกได้อีก 3 รูปแบบ ได้แก่
- Alopecia areata (AA) – มีอาการเด่นคือ ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ รอบศีรษะ หรืออาจเป็นขน หนวด คิ้ว
- Alopecia totalis (AT) – มีอาการเด่นคือ ผมที่ศีรษะร่วงทั้งหมด
- Alopecia universalis (AU) – ผมที่ศีรษะ และจนตัว เช่น รักแร้ หัวหน่าว ร่วงทั้งหมด
ปัจจัยเสี่ยง
อย่างที่ได้เกริ่นกันไปบ้างแล้วว่า ในผู้ป่วยกว่าร้อยละ 20 มักพบว่า จะมีคนในครอบครัวเกี่ยวข้องกับโรคนี้ แต่นอกจากนั้นแล้ว ยังมีอีกหลายปัจจัย ที่อาจเป็นสาเหตุกระตุ้นให้หลาย ๆ คนมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ ได้แก่
- โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
- เล็บมือ และเท้า มีความหนา สี รูปร่าง ผิดไปจากปกติทั่วไป
- มีอาการของโรคนี้มาตั้งแต่เล็ก
- ผมร่วงผิดปกติจากคนทั่วไป
- มีประวัติโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเองอยู่ก่อนแล้ว
การตรวจหาโรคและการรักษาโรคผมร่วง
โดยทั่วไป หากมีการสงสัยว่าอาจเป็นโรคผมร่วงเป็นหย่อม แพทย์จะดึงเอาตัวอย่างเส้นผม ไปส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ ร่วมกับการตรวจเลือด และโรคอื่น ๆ แต่หากทราบว่ามีอาการหรือเป็นโรคนี้จริง ๆ ผู้ป่วยไม่จำเป็นจะต้องเข้ารับการรักษา เพราะหากอาการทุเลาลง เส้นผมหรือขน จะค่อย ๆ ฟื้นฟู และงอกหลับขึ้นเองอีกครั้ง
แต่หากใครที่เป็นแล้วกังวลใจ แพทย์อาจมีแนวทางในการช่วยเหลือ เช่น การฉีดหนังศีรษะด้วยสารฉีดคอร์ติโคสเตียรอยด์ ทุก ๆ 4 – 6 สัปดาห์ เป็นต้น
เรื่อง : ชนกนันท์ สังข์เอียด
บรรณาธิการ : ทศพล ถิรเจริญสกุล