บัญชีปลอม ‘หมอโอ๊ค’ หลอกตบทรัพย์แฟนคลับ ‘ชัยวุฒิ’ เดินหน้าเอาผิด เจ้าของ
ดีอีเอส เผยทางกระทรวงเตรียมเดินหน้าเอาผิดเจ้าของ บัญชีปลอม ‘หมอโอ๊ค’ ที่หลอกตบทรัพย์แฟนคลับ เผยเตรียมเล็งใช้ 3 กฎหมายลงดาบผู้กระทำผิด
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส ได้โพสต์ข้อความเฟซบุ๊ก เปิดเผยความคืบหน้ากรณีที่ หมอโอ๊ค สมิทธิ์ หมอคนดังที่ถูกมิจฉาชีพนำรูปและโปรไฟล์ไปสวมรอยสร้างบัญชีโซเชียลปลอม และหลอกแฟนคลับทั้งในและเทศให้สูญเงินนั้น ล่าสุดทางกระทรวงเตรียมลงดาบ ทั้ง พ.ร.บ.คอมพ์ฯ กม.อาญา และ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ
โดยข้อความเฟซบุ๊กระบุว่า “นาย ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า วันนี้ (9 มี.ค.65) นพ.สมิทธิ์ อารยะสกุล (หมอโอ๊ค สมิทธิ์) เดินทางเข้ามายื่นหนังสือร้องเรียน กรณีถูกผู้อื่นนำรูปภาพและโปรไฟล์ในโซเชียล ไปสวมรอยสร้างบัญชีโซเชียลปลอม แอบอ้างและหลอกลวงแฟนคลับ และผู้ติดตามให้หลงเชื่อ บางรายถูกหลอกจนสูญเสียทรัพย์สินเงินทอง มีผู้ได้รับความเสียหายทั้งในไทยและต่างประเทศ
ปัจจุบัน กระทรวงฯ ได้ประสานงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดี โดยบางบัญชีปลอมมีการปิดไปแล้ว สำหรับพฤติกรรมมิจฉาชีพดังกล่าว เป็นความผิดตามกฎหมาย ทั้งในส่วนของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์
โดย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) ระบุว่า ผู้ใดกระทําความผิดโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขณะที่ มาตรา 16 ก็ได้กำหนดโทษสำหรับการนำรูปผู้อื่นหรือโปรไฟล์ใช้แอบอ้าง สวมรอยเป็นบุคคลอื่นไว้ว่า “ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏ เป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการอื่นใด ทั้งนี้
โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
นอกจากนี้ ยังมีความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา โดยมาตรา 341 กำหนดไว้ว่า “ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้น ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
“ในกรณีนี้ ยังมีการนำภาพ เสียง วิดีโอ ของหมอโอ๊ค ไปใช้ในบัญชีโซเชียลปลอมนั้นด้วย ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ มีความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ โทษปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท อีกทั้งยังเป็นการนำไปใช้โดยมีเจตนาเพื่อการค้าอีกด้วย ยิ่งผิดขึ้นอีก โดยมีโทษปรับตั้งแต่ 100,000-800,000 บาท หรือจำคุก 6 เดือน – 4 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ” นายชัยวุฒิกล่าว
นพ.สมิทธิ์ อารยะสกุล (หมอโอ๊ค สมิทธิ์) กล่าวว่า พบการแอบอ้างในลักษณะหลอกลวง (Scammer) โดยมีการนำภาพ มีการแต่งเรื่อง นำภาพปกไปทำการหลอกลวง สร้างบัญชีโซเชียลปลอมหลอกลวงผู้เสียหายหลากหลาย ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะในอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และล่าสุดขยายไปถึงอเมริกาใต้ โดยมักเจาะกลุ่มผู้หญิงสูงอายุ หลอกลวงโดยมีเป้าหมายเพื่อความสัมพันธ์ และเรียกร้องเงินทอง มีการขอให้โอนเงินผ่านบัญชีต่างๆ
“ผมได้รับข้อมูลนี้ผ่านช่องทางส่วนตัวของผม โดยมีผู้เสียหายติดต่อเข้ามาสอบถามว่าเป็นตัวเราจริงหรือไม่ หรือลักษณะว่ามีการโอนเงินไปแล้ว ขอเงินคืนได้หรือไม่ หลายท่านมาด้วยความเดือดร้อนใจ เพราะจำนวนเงินค่อนข้างเยอะ และผู้เสียหายที่อยู่ต่างประเทศ ก็สอบถามด้วยว่าในประเทศไทยมีการจัดการอย่างไรบ้างกับปัญหานี้” นพ.สมิทธิ์กล่าว
ทั้งนี้ ในฐานะที่รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความเสียหายในลักษณะนี้ เพราะถูกนำไปแอบอ้างตัวตน จึงอยากช่วยเหลือผู้เสียหาย และรับผิดชอบในแง่มุมการให้ข้อมูลการเข้าถึงช่องทางร้องเรียนของผู้สียหาย รวมทั้งอยากให้ประเทศเพื่อนบ้านที่มีผู้เสียหายได้รับข้อมูลช่องทางช่วยเหลือนี้
ซึ่งมิจฉาชีพมักเห็นช่องโหว่ เช่น ความอับอาย ความไม่รู้ จึงสบโอกาส ดังนั้น ปัจจุบันมีการแจ้งความออนไลน์ ให้สามารถเอาผิดมิจฉาชีพพวกนี้ได้ จึงอยากให้ผู้เสียหายใช้ช่องทางนี้แจ้งความดำเนินคดีเรียกร้องความยุติธรรม
พ.ต.อ. ทำนุรัฐ คงมั่น รอง ผบ.สอท. 1 กล่าวว่า ทุกส่วนกำลังดำเนินการเร่งรัดแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาและคดีทางเทคโนโลยีและสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งช่วง 2 ปีนี้พบมีสูงมากโดยเฉพาะการหลอกลวงออนไลน์ และการแฮกระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งในกรณีของ นพ.สมิทธิ์ ตรวจสอบแล้ว มีการกระทำผิดเกิดขึ้นทั้งในและนอกประเทศ ถูกแอบอ้างตัวตนนำไปโพสต์โซเชียล ในทางกฎหมายจึงถือเป็นผู้เสียหาย สามารถไปแจ้งความได้ และล่าสุด สตช. ได้เปิดศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ในคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มีผู้เสียหายแจ้งความเข้ามาบ้างแล้ว ซึ่งมองว่าน่าจะเป็นช่องทางหนึ่งในการแก้ปัญหาด้านนี้ไปในทิศทางที่ดีขึ้น
ขณะที่ รมว.ดีอีเอส กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวทางป้องกันการถูกแอบอ้างสวมรอยบนโซเชียล อยากแนะนำให้คนดังหรือดารา เข้าไปทำการยืนยันตัวตนผ่านระบบยืนยันบัญชี (Verified Badge) ซึ่งทั้งในแพลตฟอร์มโซเชียล เช่น เฟซบุ๊ก ไอจี มีให้บริการอยู่ ให้ยืนยันผ่านระบบนี้ จากนั้นจะมีเครื่องหมายถูกสีฟ้า verify บัญชีโซเชียลนั้นๆ ว่าเป็นตัวตนจริง ขณะที่ ในส่วนของประชาชน หากไม่เห็นเครื่องหมายยืนยันบัญชีดังกล่าว ในเพจหรือไอจีใคร ก็อย่าหลงเชื่อ อย่าโอนเงิน
นอกจากนี้ หากพบว่ามีบัญชีปลอม ให้มีการ Report เพื่อให้แพลตฟอร์มนั้นๆ ทำการพิจารณาปิด หรือแจ้งมาที่ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ 1212 หรือสายด่วน 1441 ของตำรวจไซเบอร์ หรือแจ้งความออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ในคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี www.thaipoliceonline.com”