ข่าวข่าวอาชญากรรม

ดีอีเอส – กสทช. ถกค่ายมือถือ เพิ่มมาตรการเข้ม กวาดล้าง SMS หลอกลวง

คุยด่วน ดีอีเอส – กสทช. ประชุมค่ายมือถือ เพิ่มมาตรการเข้ม กวาดล้างแก๊งมิจฉาชีพส่ง SMS หลอกล้วงข้อมูล กำชับโอเปอเรเตอร์ทุกค่าย ตรวจสอบ ติดตาม และยืนยันที่มา

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับสำนักงาน (กสทช.) ผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้ประกอบการโทรคมนาคม ได้ประชุมหารือเพื่อติดตามและกำกับดูแลกรณีมิจฉาชีพ ส่งข้อความสั้น (SMS) หลอกลวงประชาชน การชักชวนเล่นพนันออนไลน์ และลามกอนาจาร

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกับนายทศพล เพ็งส้ม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ปฎิบัติหน้าที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) หารือด่วนกับเครือข่ายโอเปอเรเตอร์ ผู้ให้บริการมือถือ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อยกระดับมาตรการบังคับใช้กฎหมายเอสเอ็มเอสหลอกลวง และฉ้อโกง

โดยหลักใหญ่ใจความ จะมีการวางมาตรการต่าง ๆ เพื่อกำหนดวิธีการส่งเอสเอ็มเอสสำหรับผู้ส่ง ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ซึ่งก่อนหน้านี้การส่งข้อความทางเอสเอ็มเอส จะไม่ปรากฏหมายเลขโทรศัพท์มือถือของผู้ส่ง แต่หลังจากวันนี้เป็นต้นไป จะต้องแสดงหมายเลขโทรศัพท์มือถือ หากเป็นเอสเอ็มเอสที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด เช่น เว็บลามกอนาจาร การพนันออนไลน์ จะถูกจับและดำเนินคดีเร็วขึ้น

ผู้ที่ดำเนินการส่งเอสเอ็มเอสจะต้องมีการระบุตัวตนของลูกค้าที่ชัดเจน ตรวจสอบได้ ผู้ให้บริการจะต้องมีเลขหมายโทรศัพท์ที่ชัดเจนว่าไม่ใช่เลขหมายปลอม มีชื่อบริษัท หน่วยงานมีหนังสือรับรองไปยังโอเปอร์เรเตอร์ว่า ได้รับมอบหมายอย่างถูกต้อง โดยเน้นย้ำให้ผู้ประกอบการโอเปอเรเตอร์ทุกค่าย ตรวจสอบ ติดตาม และยืนยันที่มาของกลุ่มผู้ส่งเอสเอ็มเอส หรือ sender ให้ชัดเจน

สำหรับเอสเอ็มเอส หลอกลวง ทางกองบัญชาการศบป. จะเป็นหน่วยงานที่รับเรื่องเพื่อส่งต่อให้ ดีอีเอส ดำเนินการเอาผิดตาม กฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ต่อไป

ขณะเดียวกัน ดีอีเอส จะเร่งออกกฎหมายเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดต่อไป ซึ่งกำชับให้โอเปอเรเตอร์ดำเนินการทันที และมีผลต่อประชาชนในวันจันทร์ที่ 1 พ.ย. นี้

ในส่วนของเอสเอ็มเอสสินเชื่อเงินกู้หลอกลวง เบื้องต้นได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.แล้ว ซึ่ง ธปท. ขอเวลาในการไปตรวจสอบกับสถาบันการเงินต่าง ๆ และจะจัดทำไวท์ลิสต์ เพื่อส่งกลับมาให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง

หากเป็นข้อความประเภทขายผลิตภัณฑ์ของสถาบันการเงินจะต้องเป็นความยินยอมของผู้รับเอสเอ็มเอส แต่สิ่งที่สถาบันการเงินสามารถดำเนินการได้เลยคือ การส่งข้อความเพื่อขอรหัสยืนยัน OTP หรือการเคลื่อนไหวบัญชี การใช้บัตร ซึ่งธปท. ต้องใช้เวลาประมาณ 15 วัน ในการดำเนินการ คาดว่าจะสามารถส่งรายละเอียดกลับมาได้ในเดือนพฤศจิกายน ในส่วนของตร. ได้ยืนยันว่าจะเร่งดำเนินการเมื่อเกิดคดีฉ้อโกงหรือหลอกลวงและสืบทราบได้ภายใน 3 – 5 วัน ซึ่งช่วงที่ผ่านมาได้มีการจัดกลุ่มไปแล้วกว่า 400 ราย

ขณะเดียวกัน นายทศพล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรีของดีอีเอส กล่าวว่า “สำหรับในภาคผู้ประกอบการ และ กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลผู้ให้บริการมือถือ ถ้ามีการปล่อยปละละเลยถือว่ามีการกระทำผิด เพราะเอสเอ็มเอสเป็นการส่งกันเองจะไปโทษคนอื่นไม่ได้ต้องรับผิดชอบด้วย จะอ้างว่าเป็นลูกค้ามาใช้บริการแล้วไม่รับผิดชอบเลยไม่ได้ เพราะขั้นตอนในการส่งข้อความดำเนินการผ่านระบบของผู้ให้บริการทุกขั้นตอน ถ้าเอาผิดตามกฎหมายก็ผิดกันหมด”

อย่างไรก็ตาม โอเปอเรเตอร์หลายรายบอกตรงกันว่า ได้ดำเนินการลักษณะนี้มานานแล้ว แต่ไม่สามารถไปบังคับให้ลูกค้าที่เปรียบเสมือนลูกค้าขายส่งที่มาซื้อบริการ แจ้งรายละเอียดลูกค้าขายปลีก ที่มาซื้อต่อได้ตั้งแต่แรก เพราะเป็นเรื่องของธุรกิจ แต่ยืนยัน สามารถตรวจสอบต้นตอเมื่อเกิดเหตุได้อย่างแน่นอน

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button