ผู้ชายผู้หญิงไลฟ์สไตล์

คำทับศัพท์ คนไทยเช็กด่วน สะกดถูกไหม เขียนยังไงให้ถูกต้อง

ไม่ต้องปวดหัวกับ “คำทับศัพท์” อีกต่อไปแล้ว เพราะในวันนี้เราจะนำเสนอเครื่องมือ ที่ช่วยให้คุณเขียนคำทับศัพท์ได้อย่างถูกต้อง ตรงตามหลักเกณฑ์ของราชบัณฑิตยสภาที่ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 14 กันยายน 2532 กันแบบเป๊ะ ๆ ไปเลยจ้า แต่ก่อนอื่นเราไปศึกษาข้อมูลกันก่อนว่าคำทับศัพท์คืออะไร และมีหลักเกณฑ์อย่างไรบ้าง

 

หมดห่วง คำทับศัพท์ ไม่ต้องกลัวสะกดผิดอีกต่อไป

 

คำทับศัพท์ คืออะไร ?

การทับศัพท์ หมายถึง การที่ผู้ใช้ภาษาหนึ่ง นำเอาคำจากอีกภาษาหนึ่งมาถ่ายเสียง และถอดรูปตัวอักษร เพื่อใช้ในภาษาของตนเอง

ซึ่งในอดีตนั้น การทับศัพท์ภาษาต่างประเทศของคนไทย มักจะมาจากการทับศัพท์จากภาษาพูด เพื่อเป็นการสะดวกต่อการออกเสียงของคนไทย อีกทั้งหลักเกณฑ์การทับศัพท์ก็ยังไม่แน่นอน แม้จะมีการ “บัญญัติศัพท์” ภาษาต่างประเทศในภาษาไทยแล้วก็ตาม

และเนื่องด้วยยังคงมีคำวิสามานยนาม (นามเฉพาะ) ในภาษาต่างประเทศอีกมากที่ไม่สามารถบัญญัติศัพท์ในภาษาไทยได้ เช่น ชื่อคน ชื่อเมือง หรือชื่อประเทศ เป็นต้น

จึงทำให้ทางราชบัณฑิตยสถานเล็งเห็นว่าควรจะมีการปรับปรุงการทับศัพท์ภาษาต่างประเทศของภาษาไทยให้ชัดเจนมากขึ้น และเพื่อให้ทุกองค์กร ประชาชนทุกคน ทับศัพท์ภาษาต่างประเทศไปในรูปแบบทิศทางเดียวกัน จึงออกหลักเกณฑ์การทับศัพท์ฉบับปรับปรุงขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นฉบับที่ใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 มาจวบจนถึงทุกวันนี้

หลักเกณฑ์การทับศัพท์

หลักเกณฑ์การทับศัพท์ตามที่ราชบัณฑิตยสถานได้ปรับปรุงไว้ มีเกณฑ์หลัก ๆ อยู่ 5 ข้อ ได้แก่

  1. การทับศัพท์ให้ถอดอักษรในภาษาเดิมพอควรแก่การแสดงที่มาของรูปศัพท์ และให้เขียนในรูปที่อ่านได้สะดวกในภาษาไทย
  2. การวางหลักเกณฑ์ได้แยกกำหนดหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาต่าง ๆ แต่ละภาษาไป
  3. คำทับศัพท์ที่ใช้กันมานานจนถือเป็นภาษาไทย และปรากฏในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานแล้ว ให้ใช้ต่อไปตามเดิม เช่น ช็อกโกเลต, ช็อกโกแลต, เชิ้ต, ก๊าซ, แก๊ส, ก๊อบปี้, เมล์
  4. คำวิสามานยนาม (นามเฉพาะ) ที่ใช้กันมานานแล้ว อาจใช้ต่อไปตามเดิม เช่น Victoria – วิกตอเรีย, Louis – หลุยส์, Cologne – โคโลญ
  5. ศัพท์วิชาการซึ่งใช้เฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่ศัพท์ทั่วไป อาจเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ขึ้นตามความจำเป็น

เครื่องมือในการค้นหาคำทับศัพท์

เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่มีความจำเป็นจะต้องเขียนคำทับศัพท์ ราชบัณฑิตยสถานจึงได้จัดทำ “ระบบฐานข้อมูลคำทับศัพท์ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา” ซึ่งเป็นเครื่องสำหรับค้นหาคำทับศัพท์จากภาษาต่าง ๆ มากถึง 15 ภาษา

โดยเราสามารถค้นหาคำที่ต้องการ ผ่านการค้นหาคำศัพท์ภาษาต่างประเทศได้เลย เช่น หากเราต้องการทราบว่า community ในภาษาอังกฤษนั้น ทับศัพท์เป็นภาษาไทยว่าอย่างไร ก็ให้พิมพ์คำว่า community ลงในช่องค้นหาได้เลย ผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นอย่างที่ปรากฏในรูปภาพด้านล่างนี้

การทับศัพท์

นอกจากเครื่องมือ “ระบบฐานข้อมูลคำทับศัพท์ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา” ทางราชบัณฑิตยสถานก็ได้จัดทำเครื่องมือค้นหา “ศัพท์บัญญัติ” โดยจัดให้มีการแยกหมวดหมู่ประเภทของคำตามสายอาชีพ หรือสายงานต่าง ๆ ไว้ด้วย สะดวกสบายมาก ๆ เลย

ศัพท์บัญญัติ

คำทับศัพท์ที่ใช้บ่อย (และมักจะเขียนผิด)

คำศัพท์ภาษาอังกฤษ คำที่เขียนถูก คำที่มักเขียนผิด
Check เช็ก เช็ค
Cheque เช็ค เช็ก
Clinic คลินิก คลีนิก
Counter เคาน์เตอร์ เคาท์เตอร์
E-Mail อีเมล อีเมล์
Highlight ไฮไลต์ ไฮไลท์
Landmark แลนด์มาร์ก แลนด์มาร์ค
Notebook โน้ตบุ๊ก โน๊ตบุ้ค
Size ไซซ์ ไซส์
Video วิดีโอ วีดีโอ

 

อ้างอิงจาก : 1 2 3

เรื่อง : โมทนา ม่วงเตี้ย
บรรณาธิการ : ทศพล ถิรเจริญสกุล


? ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน The Thaiger

? Google Play Store
? App Store

Mothana

นักเขียนข่าวที่ Thaiger การศึกษาทางด้านภาษา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเชี่ยวชาญด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จึงรับหน้าที่เขียนบทความไลฟ์สไตล์บันเทิง เศรษฐกิจ อยากเป็นสื่อกลางคอยขุดคุ้ยประเด็นตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงใหญ่โตมาเขียนให้ทุกคนได้อ่าน เพราะมีความเชื่อว่าสื่อที่ดีย่อมเป็นหนทางนำผู้อ่านไปสู่งานเขียนที่ดีได้ ติดต่อได้ทาง tangmo@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button