การเงิน

เช็กที่นี่ ลงทะเบียนแก้หนี้สินครู จากโครงการ กระทรวงศึกษาธิการ

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิด ลงทะเบียนแก้หนี้สินครู โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู แล้วตั้งแต่เมื่อวานนี้ (14 ก.พ.) ไปจนถึง 15 มี.ค. 2565

อัปเดตข่าว ลงทะเบียนแก้หนี้สินครู ล่าสุด เมื่อวานนี้ (14 ก.พ. 2565) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ทำการเปิดให้มีการลงทะเบียนภายใน โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ได้อย่างเป็นทางการแล้ว โดยตัวโครงการจะเป็นการเปิดให้ครู-อาจารย์ หรือบุคลากรทางด้านการศึกษา (ทั้งรัฐบาล และเอกชน) เข้ารับการช่วยเหลือในการจัดการหนี้สิน เพื่อให้สามารถดำเนินการแก้ไขต่อไปได้

โครงการ ลงทะเบียนแก้หนี้สินครู ก็มีแนวทางในการดำเนินการด้วยกันทั้งหมด 8 รูปแบบด้วยกันดังนี้

1) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของสหกรณ์ออมทรัพย์ให้ต่ำลงไม่เกิน 3%

– อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 24 เดือนของธนาคารพาณิชย์ ณ ปัจจุบัน เฉลี่ย 0.45 – 1.30%

– อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของสหกรณ์ออมทรัพย์อยู่ในระดับ 3.5 – 4.5% ถือว่าสูงผิดปกติ จำเป็นต้องกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินฝากให้ต่ำลงเพื่อลดผลกระทบที่มีต่อเงินกู้ ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 0.5% ต่อปี อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงเป็นต้นทุนส่วนสำคัญที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่สูง สร้างภาระให้ “ครูผู้กู้” และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของสหกรณ์ที่มีความแตกต่างจากในระบบมาก สร้างความเสี่ยงที่จะทำให้มี “สมาชิกแฝง” เพราะ search for yield ปัจจุบันบางสหกรณ์จำกัดวงเงินที่สมาชิกแต่ละคนจะฝากได้

2) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้สอดคล้องกับสินเชื่อที่มีอัตราความเสี่ยงต่ำ 4.5 – 5.0%

– อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สหกรณ์ออมทรัพย์ โดยเฉลี่ย 6 – 9%

– อัตราดอกเบี้ยสถาบันการเงิน โดยเฉลี่ย 4 – 11%

– สินเชื่อที่มีการหักชำระหนี้จากเงินเดือนของข้าราชการ ถือเป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ (default risk) ต่ำมาก และเป็นสินเชื่อที่หน่วยงานต้นสังกัดทำหน้าที่จัดเก็บและนำส่งให้ (collection) ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับสินเชื่อที่มีการหักเงินเดือนของข้าราชการครู จำเป็นต้องอยู่ในระดับต่ำไม่เกินกว่า 4.5% ต่อปีสำหรับสินเชื่อทั่วไป และไม่เกินกว่า 3.5% ต่อปีสำหรับสินเชื่อบ้าน

– การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 1% กรณีเงินกู้ 1 ล้านบาท ลดดอกเบี้ยได้ปีละ 10,000 บาท ถ้าเงินกู้ 3 ล้านบาท ลดดอกเบี้ยได้ปีละ 30,000 บาท ทำให้ลดค่าใช้จ่ายได้เดือนละ 2,500 บาท

3) จัดสรรผลกำไรมาเพิ่มเงินเฉลี่ยคืนเงินกู้ให้มากขึ้น ไม่น้อยกว่า 30% ของผลกำไร

– การจัดสรรผลกำไรมาเพิ่มเงินเฉลี่ยคืนเงินกู้ให้มากขึ้น ลดค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ไม่จำเป็น เช่น ลดเงินปันผลหุ้น งบบริหารจัดการ เงินโบนัสและค่าตอบแทนกรรมการ สวัสดิการที่ไม่จำเป็น และงบลงทุน

– ดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยคืน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20

– สมาชิกสามารถนำเงินเฉลี่ยคืนเงินกู้มายุบยอดหนี้ให้ลด

4) การบริหารความเสี่ยง การสร้างหลักประกันเงินกู้ การปรับลดบุคคลค้ำประกัน และปรับลดการซื้อประกันในส่วนที่ไม่จำเป็นลง

การบริหารความเสี่ยงของสินเชื่อสำหรับสินเชื่อที่ตัดเงินเดือนข้าราชการต้องไม่สร้างภาระให้กับข้าราชการมากเกินความเสี่ยงที่แท้จริง โดยผู้ให้บริการจำเป็นต้องคำนึงถึงภาระที่ครูจะต้องจ่ายเพิ่มเติมให้เป็นไปอย่างเหมาะสม กระทรวงศึกษาธิการสามารถต่อรองให้เบี้ยประกันภัยถูกลง เช่น การจัดสวัสดิการจัดทำประกันชีวิตหมู่ ล้านละ 2,400 บาท/ปี ใช้เป็นหลักประกันเงินกู้ อนึ่ง เมื่อความเสี่ยงที่กล่าวมา ถูก cover หมดแล้ว ผู้ให้บริการไม่สามารถที่จะเรียกให้มีการค้ำประกันโดยบุคคลเพิ่มเติม

5) การปรับโครงสร้างหนี้

– แก้ไขระเบียบและมติที่เป็นอุปสรรคต่อการปรับปรุงโครงสร้างหนี้

– การชะลอฟ้อง การชะลอบังคับคดี และไกล่เกลี่ย

– รวมหนี้จากทุกสถาบันการเงินมาไว้ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครู และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาในอัตราร้อยละ 2.5%

– การปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ให้แก่สมาชิกที่เตรียมเกษียณอายุราชการ

– กลุ่มที่ผิดนัดชำระหนี้ดำเนินการปรับยอดการชำระขั้นต่ำมากกว่า 1% ต่อปีของยอดกู้ขึ้นไป โดยให้ชำระภายใน 240 งวด ทั้งนี้ให้ตัดจ่ายเงินต้นก่อน

– ปรับลดการส่งค่าหุ้นรายเดือน

6) จัดทำฐานข้อมูลสมาชิกและการเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับสถาบันการเงิน และต้นสังกัด

– การจัดทำฐานข้อมูลหนี้สมาชิกของสหกรณ์

– เชื่อมโยงฐานข้อมูลกับสถาบันการเงิน หรือเป็นสมาชิกของเครดิตบูโร

– เชื่อมโยงฐานข้อมูลกับส่วนราชการต้นสังกัด

7) ร่วมกับส่วนราชการต้นสังกัดหัก ณ ที่จ่าย ควบคุมยอดหนี้ไม่ให้เกินความสามารถในการชำระหนี้ของสมาชิกสหกรณ์ ให้มีเงินเดือนเหลือไม่น้อยกว่าร้อยละ 30

– การควบคุมยอดหนี้ไม่ให้เกินความสามารถในการชำระหนี้ของสมาชิกสหกรณ์ จะต้องมีเงินเดือนสุทธิหลังจากหักชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าอัตราร้อยละ 30

– การประสานงานกับส่วนราชการต้นสังกัดหัก ณ ที่จ่าย ด้านข้อมูลและหลักฐานประกอบการพิจารณาหัก ณ ที่จ่าย จะต้องมีเงินเดือนสุทธิหลังจากหักชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าอัตราร้อยละ 30

8) สร้างระบบพัฒนาและดูแลสมาชิก ให้ความรู้เสริมสร้างวินัยและการวางแผนทางด้านการเงิน การสร้างอาชีพเสริม ลดรายจ่าย เพิ่มการออม และไม่ก่อหนี้เพิ่ม

– ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ให้ความรู้ด้านการเงินจัดทำหลักสูตรพัฒนาข้าราชการครู เพื่อให้มีความรู้ทางด้านการวางแผนทางการเงิน การบริหารจัดการ และการสร้างวินัยทางการเงินและการออม จัดอบรมแบบออนไลน์

– สร้างอาชีพเสริม สร้างรายได้เพิ่ม

– กระทรวงศึกษาธิการกำหนดแนวปฏิบัติให้ส่วนราชการปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวง ศึกษาธิการว่าด้วยการหักเงินเดือนเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ. 2551 อย่างเคร่งครัด

โดยผู้ที่มีความประสงค์ หรือสนใจในโครงการดังกล่าว สามารถทำการลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมได้ที่นี่ – https://td.moe.go.th

วิธีลงทะเบียนแก้หนี้สินครู

ขั้นตอน ลงทะเบียนแก้หนี้สินครู มีวิธีดังนี้

  • 1. เข้าสู่เว็บไซต์ลงทะเบียนแก้หนี้สินครู https://td.moe.go.th/
  • 2. กดเลือก “ลงทะเบีนเข้าร่วมโครงการ”
  • 3. กรอกข้อมูลให้ครบถ้วน
  • 4. กดบันทึก
  • 5. ข้อมูลจะถูกส่งต่อไปสำนักงานเขตพื้นที่เพื่อเจรจากับเจ้าหนี้ของผู้ลงทะเบียน

แหล่งที่มาของข่าว : Twitter – รัชดา ธนาดิเรก – รองโฆษกรัฐบาล@Rachadaspoke

 

N. Siripariyasak

นักเขียนคอนเทนต์ จับประเด็นด้านเศรษฐกิจ-การเงิน, เทคโนโลยี, ไอที และเกมส์ อัปเดตข่าวทั้งจากในประเทศไทย และต่างประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button