Line Newsไลฟ์สไตล์

รู้จัก “วันจาตุรงคสันนิบาต” คือวันอะไร รวมเหตุการณ์สำคัญต่อ วันมาฆบูชา

เปิดประวัติ “วันจาตุรงคสันนิบาต” 24 กุมภาพันธ์ 2567 มีความสำคัญและเกี่ยวข้องอย่างไรกับ “วันมาฆบูชา” รวมข้อมูลอย่างละเอียดพร้อมไขข้อสงสัยเกร็ดความรู้พุทธศาสนา

ชวนทำความรู้จัก วันจาตุรงคสันนิบาต ปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 คือ “การประชุมด้วยองค์ 4” จากเหตุการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นพร้อมกันในวันดังกล่าว คือ เป็นวันที่พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า จำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันที่เวฬุวันวิหารในกรุงราชคฤห์ โดยมิได้นัดหมาย ซึ่งตรงกับ “วันมาฆบูชา (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3) ส่วนสาเหตุที่ต้องเรียกเป็น “วันจาตุรงคสันนิบาต” ทั้ง ๆ ที่ตรงกับ “วันมาฆบูชา” มีประวัติย้อนกลับไปในช่วงการเพิ่งตรัสรู้ใหม่ ๆ ของพระพุทธเจ้า โดยมีรายละเอียดประวัติน่าสนใจดังต่อไปนี้

ประวัติ “วันจาตุรงคสันนิบาต” หมายถึงวันใด

อย่างที่ได้เขียนไว้ในหัวข้อว่า “วันจาตุรงคสันนิบาต” คือวันที่มีการเกิดขึ้นขององค์ประชุมครบ 4 อย่าง ว่าแต่ใคร ประชุมอะไร ที่ไหน อย่างไร ทำไมต้องประชุม เดี๋ยวเราจะเล่าให้ฟังเอง

ทำไมถึงเรียก วันจาตุรงคสันนิบาตว่าวันมาฆบูชา เพราะในความเป็นจริงแล้วคำว่า “มาฆบูชา” นั้นย่อมาจากคำว่า “มาฆปูรณมีบูชา” ซึ่งหมายถึง การบูชาในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะ (ตามปฏิทินอินเดีย) หรือเดือน 3 (ตามปฏิทินไทย 2566)

เราสามารถเรียกวันดังกล่าวว่า “วันมาฆบูชา” หรือ “วันจาตุรงคสันนิบาต” ก็ได้ทั้ง 2 แบบ เพราะทั้งสองนั้นเป็นวันเดียวกัน เพียงแต่วันจาตุรงคสันนิบาต เป็นการขยายความเพิ่มถึงความมหัศจรรย์ที่บังเกิดขึ้นในวันมาฆบูชา แต่ผู้คนส่วนใหญ่ก็นิยมเรียกกันว่า วันมาฆบูชา เพราะเป็นชื่อที่สั้นและกระชับมากกว่า

นอกจากนี้แล้วอีกความสำคัญหนึ่งของวันจาตุรงคสันนิบาต คือการที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนา “โอวาทปาติโมกข์” เป็นครั้งแรก ซึ่งการแสดงธรรมดังกล่าวนี้จะเกิดเพียงแค่ยุคสมัยของพระพุทธเจ้าองค์ละ 1 ครั้งเท่านั้น (ยุคไหนมีพระพุทธเจ้า ยุคนั้นจะมีการแสดงโอวาทปาติโมกข์เกิดขึ้น)

วันจาตุรงคสันนิบาต 2567

ทั้งนี้เราสามารถแยกคำศัพท์ “จาตุรงคสันนิบาต” ได้เป็น 3 ส่วน ดังนี้

  • จาตุร = 4
  • องค์ = ส่วน
  • สันนิบาต = ประชุม

เมื่อรวมกันแล้ว จาตุรงคสันนิบาต จึงแปลได้ว่า การประชุมครบ 4 ส่วน ดังนั้น วันจาตุรงคสันนิบาต จึงหมายถึง วันที่มีการประชุมพร้อมกันทั้ง 4 องค์ประกอบ

วันจาตุรงคสันนิบาตคือวันอะไร

ย้อนตำนาน “วันจาตุรงคสันนิบาต”

ขอเล่าย้อนกลับไปก่อนจะเกิดวันวันจาตุรงคสันนิบาตกันสักเล็กน้อย ราว ๆ 9 เดือน หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว พระองค์ก็ทรงนำพระธรรมที่ได้ตรัสรู้นั้นมาเผยแพร่เทศนาสั่งสอนเหล่าพระภิกษุผู้เป็นสาวกทั้งหลาย อีกทั้งยังเป็นการวางแบบแผนหรือพระวินัยให้สาวกได้ปฏิบัติตามเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยอีกด้วย

พระธรรมเทศนาที่ได้ใช้สอนพระสาวกเรียกว่า “โอวาทปาติโมกข์” ซึ่งนับว่าเป็นแก่นแท้ หรือ เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา โดยการแสดงพระธรรมเทศนา หรือ การแสดงโอวาทปาติโมกข์ ครั้งแรกหลังจากตรัสรู้ได้ 9 เดือนเนี่ย ก็ตรงกับวันเพ็ญเดือน 3 พอดี (เดือนมาฆะ) หรือ เป็นวันที่พระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3) และที่สำคัญคือ เป็นวันที่ตรงกับ “วันศิวาราตรี” ของศาสนาพราหมณ์ด้วย

ด้วยเหตุที่ว่าบรรดาพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าล้วนแล้วแต่เคยนับถือศาสนาพราหมณ์มาก่อน พอมาถึงวันศิวาราตรี ที่ปกติจะต้องพากันไปบูชาพระศิวะ บัดนี้นับถือพระพุทธองค์เป็นสรณะจึงเกิดความคิดที่ว่าควรจะเดินทางไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแทน พระสงฆ์สาวกทั้งหมด 1,250 รูป จึงต่างเดินทางไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ โดยไม่ได้นัดหมายกันล่วงหน้า (เพียงแต่ใจตรงกัน)

แต่ก็มีบางข้อเท็จจริงมาแย้งว่าพระศิวะเพิ่งจะเป็นที่นิยมบูชาของศาสนาพราหมณ์หลังยุคพุทธกาล ประมาณปี พ.ศ. 800 (หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน 800 ปี) ซึ่งถ้าข้อมูลนี้เป็นเรื่องจริงก็นับว่าเป็นเรื่องราวความอภินิหารอย่างหนึ่งที่คนทั้ง 1,250 คน จะเดินทางมาเข้าร่วมประชุมพร้อมกัน ด้วยวัตถุประสงค์เดียวกัน แต่ไม่มีการนัดหมายกันไว้ล่วงหน้า

ที่น่ามหัศจรรย์มากไปกว่านั้นคือ การที่พระสงฆ์ทั้ง 1,250 รูป ล้วนแล้วแต่เป็นพระสงฆ์ที่บรรลุอรหันต์แล้ว และยังเป็น “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” (พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ด้วยพระองค์เอง) อีกด้วย ดังนั้นอาจสรุปความอัศจรรย์ของวันนี้ได้ว่า

  1. เป็นวันพระจันทร์เต็มดวงในวันเพ็ญเดือนมาฆะ (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3)
  2. เป็นวันที่พระสงฆ์สาวก 1,250 รูป เดินทางมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยไม่ได้นัดหมายกัน
  3. พระสงฆ์ทั้ง 1,250 รูป ล้วนแล้วแต่เป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น (ผู้ทรงอภิญญา 6)
  4. พระสงฆ์ทั้ง 1,250 รูป ล้วนแล้วแต่เป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา (พระพุทธเจ้าบวชให้)

สรุป วันจาตุรงคสันนิบาติ หมายถึงวันใด คือเหตุการณ์สำคัญทั้ง 4 เหตุการณ์ เกิดขึ้นพร้อมกัน ในวันเดียวกัน เวลาเดียวกัน และไม่เคยมีการวางแผนกันไว้ล่วงหน้ามาก่อน จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นวันที่เต็มไปด้วยความมหัศจรรย์และเหตุบังเอิญสำคัญ 4 อย่าง ทำให้วันนี้ถูกเรียกว่าเป็น “วันจาตุรงคสันนิบาต”

วันจาตุรงคสันนิบาตหมายถึงวันใด

เรียกว่าเป็นเรื่องราวที่มหัศจรรย์อย่างมากกับเหตุการณ์ทั้ง 4 อย่าง ที่เกิดขึ้นใน “วันจาตุรงคสันนิบาต” หรือ “วันมาฆบูชา” ที่เรารู้จักกันดี สำหรับใครที่วางแผนไว้ว่าจะไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในวันนี้ ก็สามารถเดินทางไปที่วัดใกล้บ้านของท่านได้เลย หรือหากใครไม่สะดวก และเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของโรคโควิด-19 ทางกรมศาสนาก็ได้ออกเว็บไซต์สำหรับ เวียนเทียนออนไลน์ มาให้เราได้เข้าไปทำบุญกันด้วยนะครับ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง : วิกิพีเดีย

Thosapol

นักเขียนบทความที่ Thaiger จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชี่ยวชาญเรื่องบทความท่องเที่ยว บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ผ่านการค้นหาข้อมูลโดยละเอียดพร้อมด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง งานอดิเรกมีความสนใจในกระแสข่าวรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือเป็นทาสแมวร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ช่องทางติดต่อ thospol@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button