ข่าวเทคโนโลยี

TCAS โต้ หลังข้อมูลหลุด ชี้เป็นข้อมูลปี 64 และไม่หลุดทั้งหมด

สะเทือนเด็กไทยทั้งประเทศ แฮกเกอร์ ดูดข้อมูลผู้สมัครสอบ จากเว็บ mytcas.com ทั้งชื่อ นามสกุล เลขบัตรประชาชน ด้าน ทปอ ผู้จัดสอบ TCAS โต้ ข้อมูลรั่วไหล เป็นข้อมูลเก่าและไม่ได้หลุดทั้งหมด ด้านทวิต #แบนทปอ กลับมาติดเทรนด์อันดับ 1 อีกครั้ง

จากกรณีที่ นายอาร์ม สตรีมเมอร์ชื่อดังได้ออกมาโพสต์ข้อความเฟซบุ๊กระบุว่า มีแฮกเกอร์นำข้อมูลบัตรประชาชน ชื่อ นามสกุล ของผู้สมัครสอบ จากระบบ mytcas.com กว่า 23,000 รายการ มาขายบนเว็บไซต์ที่เคย พบการขายข้อมูลโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ และแจกเลขบัตรประชาชนไทยจากฐานข้อมูลโรงพยาบาลก่อนหน้านี้

โดยทางเพจ TCAS ได้ออกมาโต้ตอบจากเหตุการณ์ดังกล่าว มีข้อมูลหลุดจริง แต่เป็นข้อมูลของระบบ TCAS64 ในรอบที่ 3 ซึ่งไม่ใช่ข้อมูลส่วนตัวของผู้สมัครทั้งหมด ซึ่งข้อความระบุว่า

“ด้วยวันที่ 1 ก.พ. 2565 ปรากฏข้อมูลข่าวสารการประกาศจำหน่ายข้อมูลในอินเตอร์เน็ตจำนวน 23,000 รายการ ถูกกล่าวอ้างว่า เป็นข้อมูลส่วนบุคคลของระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา (TCAS) จากเว็บไซต์ mytcas.com ทั้งนี้ ได้มีการแสดงข้อมูลตัวอย่าง เช่น ชื่อ นามสกุล เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน ผลคะแนนตามเกณฑ์การคัดเลือกของสาขาวิชาที่สมัคร เป็นต้น ขณะนี้ ทาง ทปอ. ได้ตรวจสอบทั้งหมดในไฟล์ตัวอย่างแล้ว พบว่า เป็นข้อมูลของระบบ TCAS64 ในรอบที่ 3 ซึ่งไม่ใช่ข้อมูลส่วนบุคคลทั้งหมดของผู้สมัคร และเป็นข้อมูลในรูปแบบ CSV ที่เจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายของแต่ละสถาบันอุดมศึกษาดึงออกจากระบบเพื่อประมวลผลคัดเลือกของแต่ละสาขาวิชาที่เปิดรับในสถาบันฯ โดยเจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงได้เฉพาะข้อมูลผู้สมัครในรอบ 3 ของสถาบันนั้น ๆ ซึ่งข้อมูลในรอบ 3 ของระบบ TCAS64 มีทั้งหมด 826,250 รายการ แต่ที่ผู้ขายข้อมูลกล่าวอ้างนั้น มี 23,000 รายการ โดยคาดว่าเป็นไฟล์ที่สร้างขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 ที่เจ้าหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษาดึงข้อมูลคะแนนไปจัดเรียงลำดับผู้สมัคร(Ranking) ตามเกณฑ์คัดเลือกของแต่ละสาขาวิชา ซึ่งข้อมูลที่นำเสนอขายไม่มีผลการจัดเรียงลำดับ Ranking ของผู้สมัคร

ปัจจุบัน ทปอ. ได้ปิดระบบ TCAS64 ไปแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 และ สำหรับระบบ TCAS65 มีการเปลี่ยนระบบเป็นรูปแบบใหม่ และเว็บไซต์ที่พัฒนาขึ้นใหม่ในปีนี้ มีการจัดเก็บไฟล์ข้อมูลที่มีความอ่อนไหวในรูปแบบ Private ที่ไม่สามารถเข้าถึงโดยตรงได้ การที่จะเข้าถึงไฟล์ข้อมูลได้นั้น ผู้ใช้งานระบบต้องได้รับการอนุญาตจากระบบ (presigned URL) ที่มีอายุในเวลาที่กำหนดเท่านั้น ซึ่งผู้ใช้งานระบบสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ชั่วคราว พร้อมระบบบันทึกการใช้งานอย่างละเอียด

อย่างไรก็ตาม ทปอ. ขออภัยอย่างสูงสำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับข้อมูลส่วนบุคคลที่ถูกกล่าวอ้าง ตลอดจนตระหนักถึงการรักษาความมั่นคงปลอดภัยในระบบคอมพิวเตอร์ จากเหตุการณ์ดังกล่าว จึงได้มีการตรวจสอบระบบและกระบวนการทำงานอย่างละเอียด ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) และอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ และแจ้งเหตุไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อรับทราบสถานการณ์ต่อไป

ทปอ. ขอยืนยันว่า ระบบ TCAS65 มีความปลอดภัยในการใช้งาน และ มีการเฝ้าระวังสิ่งผิดปกติ ร่วมกับกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) และ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) อย่างใกล้ชิด เพื่อให้คงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือในระบบและกระบวนการคัดเลือกต่อไป”

ทั้งนี้ชาวเน็ตได้ออกมาแสดงความเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลของปีใด และ หลุดจำนวนเท่าไหร่ แต่ข้อมูลหลุดก็คือหลุด และควรหามาตรการที่รัดกุมกว่านี้

Thaiger deals

Nateetorn S.

ผู้สื่อข่าว ทำงานกับ Thaiger มาตั้งแต่ปี 2020 จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสคร์ เคยทำงานกับสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ของประเทศ ทำให้มประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ เจาะประเด็นข่าวการเมืองอาชญากรรม ข่าวแปลกๆ เรื่องน่าสนใจจากต่างประเทศ ช่องทางติดต่อ tee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button