ข่าว

เดลตาครอน ศูนย์จีโนม รามาฯ ชี้ อาจปนเปื้อนในห้องแลปมากกว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่

ศูนย์จีโนม โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยแพร่บทความวิเคราะห์รหัสพันธุกรรม เดลตาครอน โควิดสายพันธุ์ที่นักวิจัยชาวไซปรัสพบ ชี้ข้อสังเกต อาจเป็นการปนเปื้อนจากห้องแลป เพราะ 25 เคสไม่ได้มาจากคลัสเตอร์เดียวกัน และหากมีสายพันธุ์ลูกผสมระหว่างเดลต้ากับโอมิครอน ศูนย์จีโนม ต้องตรวจพบแน่นอน

วันนี้ 9 ม.ค. อัปเดตข่าวเดลตาครอนล่าสุด หลังจากสื่อต่างประเทศรายงาน นักวิจัยชาวไซปรัส พบโควิดสายพันธุ์ใหม่ ที่มีพันธุกรรมผสมระหว่าง โอมิครอน กับ เดลต้านั้น เฟซบุ๊ก Center of Medical Genomics ของศูนย์จีโนม โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้เผยแพร่บทความเรื่อง “Deltacron”สายพันธุ์ลูกผสม หรือการปนเปื้อนในห้องปฏิบัติการ ความว่า

มีผู้สอบถามเข้ามาที่ศูนย์จีโนม รพ. รามาธิบดี มากมายว่าเกิดสายพันธุ์ลูกผสม “Deltacron” ขึ้นที่ไซปรัสแล้วใช่หรือไม่ คำตอบคือน่าจะไม่ใช่ครับ

เพราะ Dr. Tom Peacock ผู้เชี่ยวชาญการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสระดับโลกชาวอังกฤษ รีบทวิตแจ้งว่าจากการพิจารณารหัสพันธุกรรมมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดจากการปนเปื้อนระหว่างสารพันธุกรรมของ “โอมิครอน” และ “เดลตา” ในห้องปฏิบัติการ เวลาถอดรหัสพันธุกรรมจึงมีรหัสปนกันออกมาเสมือนเกิดเป็นสายพันธุ์ลูกผสม และจากการนำเอาข้อมูลรหัสพันธุกรรมมาสร้างเป็นแผนภูมิวิวัฒนาการ Phylogenetic tree พบว่าตัวอย่างทั้ง 25 รายไม่ได้มาจากคลัสเตอร์เดียวกันซึ่งแปลก เพราะหากเป็นสายพันธุ์ลูกผสมเพิ่งเกิดใหม่ ยังไม่ระบาดเป็นวงกว้าง ควรจะอยู่ในคลัสเตอร์เดียวกัน

Tom Peacock on Twitter: “Small update: the Cypriot ‘Deltacron’ sequences reported by several large media outlets look to be quite clearly contamination – they do not cluster on a phylogenetic tree and have a whole Artic primer sequencing amplicon of Omicron in an otherwise Delta backbone.

ล่าสุด ศูนย์จีโนมฯ ได้นำรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมจำนวน 25 ตัวอย่างที่ทางไซปรัสได้อัปโหลดขึ้นมาแชร์ไว้บนฐานข้อมูลโควิดโลก “GISAID” โลก เห็นพ้องเช่นเดียวกับที่ ดร. Tom Peacock กล่าวไว้คือเมื่อนำข้อมูลรหัสพันธุกรรมมาสร้างเป็นแผนภูมิวิวัฒนาการ Phylogenetic tree (ภาพ ขวามือ) พบว่าตัวอย่างทั้ง 25 รายไม่ได้มาจากคลัสเตอร์เดียวกันซึ่งเป็นเรื่องแปลก เพราะหากเป็นสายพันธุ์ลูกผสมเพิ่งเกิดใหม่ มีที่มาจากแหล่งเดียวกันยังไม่ระบาดเป็นวงกว้าง ควรจะอยู่ในคลัสเตอร์เดียวกัน และจากรหัสพันธุกรรมทั้ง 25 ตัวอย่างบ่งชี้ว่าเป็นสายพันธุ์ “เดลตา” ซึ่งอาจมีการปนเปื้อนสารพันธุกรรมของ “โอมิครอน” เข้ามาระหว่างการถอดรหัสพันธุกรรม

คำถามที่ถามตามมาคือหากมีสายพันธุ์ลูกผสมเกิดขึ้นมาจริงๆ ทางศูนย์จีโนมฯจะตรวจพบหรือไม่ คำตอบคือน่าจะตรวจพบครับเพราะขณะนี้เราถอดรหัสพันธุกรรมด้วยเทคโนโลยีสายยาว (long-read sequencing) ประมาณ 1,000-2,000 ตำแหน่งต่อสาย

ดังนั้นหากพบรหัสพันธุ์กรรมของ “เดลตา” และ “โอมิครอน” ปนกันอยู่ในสายเดียวกัน ก็แสดงว่าน่าจะเป็นสายพันธุ์ลูกผสม

คลิกดูโพสต์ต้นฉบับ

Thaiger

The Thaiger นำเสนอข่าวสารล่าสุดและอัปเดตจากทั่วประเทศไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button