ข่าวข่าวการเมืองข่าวภูมิภาค

วันรัฐธรรมนูญ สำคัญอย่างไร ปัจจุบันไทยประกาศใช้มาแล้วกี่ฉบับ ?

วันรัฐธรรมนูญ คืออะไร ทำไมต้องตรงกับวันที่ 10 ธ.ค. ของทุกปี ย้อนศึกษาประวัติพร้อมสำรวจความสำคัญของวันแห่งประวัติศาตร์นี้กันอีกครั้ง

วันรัฐธรรมนูญ คือ วันที่จัดขึ้นเพื่อระลึกถึงการมี รัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของประเทศไทย โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.7) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ซึ่งประกาศใช้โดยคณะราษฎร เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 (หลังการปฎิวัติสยาม ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475) ซึ่ง ร.7 ทรงพระราชทานให้เปลี่ยนมาใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 แทน ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 จึงเป็นเหตุผลให้วันนี้ถูกกำหนดให้เป็นวันรัฐธรรมนูญของทุกปี

นอกจากวันนี้จะเป็นวันหยุดราชการแล้ว ที่หน้าอาคารรัฐสภา ก็จะมีพิธีวางพวงมาลาถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกด้วย

วันรัฐธรรมนูญมีความสําคัญอย่างไร ?

รัฐธรรมนูญ ฉบับแรกของไทย มีชื่อว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475” โดยคำว่า รัฐธรรมนูญนั้น มีความหมายว่า กฎหมายสูงสุดของประเทศ เป็นกฎหมายแม่บทที่บัญญัติกฎเกณฑ์การบริหารและปกครองทางการเมือง หากกฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญจะมีผลเป็นโมฆะและบังคับใช้ไม่ได้

ทั้งนี้ เดิมทีคำว่า “รัฐธรรมนูญ” (Constitution) หมายถึง หลักการหรือข้อตกลง ซึ่งมีความหมายค่อนข้างกว้างและไม่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นหลักการและธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน

โดยนอกจากวันรัฐธรรมนูญจะมีขึ้นเพื่อระลึกถึงการมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ฉบับแรกของไทยแล้ว ยังมีจุดประสงค์เพื่อให้ประชาชนเห็นความสำคัญของรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีส่วนช่วยในการวางกรอบการปกครองและสร้างเสถียรภาพให้ระบอบการเมือง ดังนี้

  • สถาปนาอำนาจของรัฐ แสดงถึงการดำรงอยู่ของรัฐ เป็นเอกราชไม่ขึ้นต่อใคร
  • การสถาปนาคุณค่าและเป้าหมายของสังคมที่เป็นเอกภาพ
  • สร้างรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ
  • คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
  • รับรองความชอบธรรมให้ระบอบการเมือง

ปัจจุบัน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีทั้งสิ้น 20 ฉบับ ดังนี้:

  1. พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475
  2. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม
  3. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489
  4. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490
  5. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492
  6. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495
  7. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502
  8. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511
  9. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515
  10. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517
  11. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519
  12. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520
  13. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521
  14. รัฐธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534
  15. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534
  16. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540
  17. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549
  18. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
  19. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557
  20. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

ที่มา: สถาบันพระปกเกล้า

ทั้งนี้ วันรัฐธรรมนูญของปีนี้ (10 ธ.ค.64) ซึ่งเป็นวันหยุด การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด หรือ NECL ยกเว้นค่าผ่านทาง 3 สายทาง ดังนี้

1. ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1)

2. ทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2)

3. ทางพิเศษอุดรรัถยา (บางปะอิน – ปากเกร็ด)

 

 

 

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button