ถ้าบรีฟแย่ก็อย่าหวังว่าจะได้งานถูกใจ เจาะลึก วิธีบรีฟงาน ทำตามนี้ไม่มีงง ถ้าบรีฟดี คนออกแบบก็แสดงฝีมือเต็มที่ คนจ้างก็ได้งานถูกใจ แฮปปี้หมด
เรื่องของงานออกแบบจะว่าเป็นเรื่องที่ตีราคาไม่ได้ก็ไม่ใช่ซะทีเดียว เพราะปัจจุบันวงการศิลปะและงานออกแบบในประเทศไทย ถือว่าเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาก มีศิลปินมากมายที่มีความสามารถรอวันได้เป็นที่รู้จักอยู่เต็มไปหมด โดยช่วงหนึ่งที่มีกระแสแฮชแท็ก #ชุมชนนักสร้างสรรค์ และ #PortfolioDay มีนักวาดภาพ นักออกแบบมากฝีมือออกมาแสดงฝีมือให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และต่างก็ออกมาพูดถึงปัญหาเรื่องการกดราคาที่ศิลปินต้องเจอ
โดยเมื่อวานได้เกิดประเด็นร้อนในโลกทวิตเตอร์ ยูทูปเบอร์นักวาดภาพที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงในวงการศิลปะทำคอนเทนต์ว่าจ้างนักออกแบบโลโก้ในราคาที่ต่างกัน ตั้งแต่ 20 บาทไปจนถึง 20,000 บาท ซึ่งทำให้ผู้คนออกมาแสดงความเห็นมากมาย วันนี้เราเลยอยากหยิบประเด็น วิธีบรีฟงาน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญไม่แพ้กระบวนการทำงาน เพราะถือเป็นจุดเริ่มต้นของการทำร่วมกัน ทั้งฝ่ายผู้ว่าจ้างและนักออกแบบผู้ถูกว่าจ้าง แล้วอะไรที่เรียกว่าบรีฟดี อะไรที่เรียกว่าบรีฟ..แย่
หากจะเทียบให้เห็นภาพด้วยเรื่องใกล้ตัวก็คงเหมือนกับเราเข้าร้านทำผม แล้วเราบอกช่างตัดผมว่าทรง ‘อะไรก็ได้’ เราอาจจะได้ทรงที่ออกมาถูกใจหรือไม่ถูกใจ ไม่ว่าเขาจะทำออกมาดีเพียงใด ตรงกันข้ามหากเราบอกเขาว่าขอความยาวประบ่า สไลด์ผมด้านหน้าให้ดูเหมือนสาวเกาหลีหน่อย ๆ แล้วก็ขอหน้าม้าแบบซีทรู ไม่เอาหน้าม้าตรง ถ้าบอกละเอียดแล้ว ทีนี้ช่างก็จะได้พิจารณาจากรูปหน้าแล้วปรับให้เข้ากับตัวเรา ไม่ใช่ว่าเริ่มจากคลำหาทางเดาใจเราแต่แรก
‘วิธีบรีฟงาน’ สำหรับผู้ว่าจ้าง ลองทำแบบนี้ไม่มีงง
ไม่แปลกค่ะที่จะไม่รู้ว่าควรเริ่มจากอะไร หากเป็นสิ่งที่เราไม่คุ้นเคยมาก่อน ดังนั้นการเริ่มต้นเราอาจจะต้องพึ่งทฤษฎีกันสักนิด พอได้ลองครั้งแรกแล้ว ครั้งต่อไปอาจจะสมูธขึ้น ไม่จำเป็นต้องทำตามสเต็ปเป๊ะ 1 ไป 2 ไป 3 แต่อาจจะใช้การพูดคุยกันระหว่าง 2 ฝ่าย แต่สำหรับมือใหม่เริ่มจ้าง วันนี้เรามีทริกมาฝากกันว่าทำอย่างไร ถึงจะทำให้งานออกมาถูกใจ และทำให้คนที่เราไปจ้างแสดงความสามารถของเขาได้เต็มที่
1. มีภาพที่ต้องการในหัวก่อน
การจะทำให้ใครเห็นภาพได้ เราต้องเห็นภาพในหัวเราเองก่อนค่ะ จึงจะสามารถอธิบายต่อได้ อาจไม่จำเป็นต้องเป็นภาพที่เสร็จสมบูรณ์ 100% แต่อย่างน้อยก็พอมีทิศทางที่ต้องการ เพราะศิลปะมีหลายสไตล์ ภาพที่ถ่ายทอดออกมาผ่านนักออกแบบที่ต่างคนก็อาจจะให้ความรู้สึกที่ต่างกัน
ดังนั้นแล้วในฐานะลูกค้าหรือผู้ว่าจ้าง ก็ควรระบุความต้องการได้ว่าต้องการอะไร เช่น อยากได้ภาพสไตล์สีสดใส สีพาสเทล ขอดาร์ก ๆ หรือหากเป็นการออกแบบตัวละครก็ควรเล่านิสัยหรือบุคลิกของตัวละครให้นักออกแบบฟังสักนิด เพื่อที่เขาจะได้ใช้ข้อมูลต่อยอดการออกแบบได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ศัพท์เทคนิคก็ได้ค่ะ แต่แค่ลองอธิบายให้นักออกแบบของเราเข้าใจสิ่งที่เราอยากได้มากที่สุดก็พอ
2. มีภาพ References ได้ไม่ว่ากัน
หากเราไม่สามารถเล่าสิ่งที่อยากได้แบบชัดเจน ก็สามารถหาภาพ References มาช่วยประกอบการบรีฟได้เลยค่ะ เพราะอย่างไรเราก็ไม่ได้จะทำตามเป๊ะจนเหมือนไปลอกมา เพียงแค่หยิบยกสักจุดที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับเรามาต่อยอด เพื่อที่จะได้เข้าใจตรงกันทั้งคู่ แล้วก็อย่าลืมลงรายละเอียดจุดที่ต้องการเน้น อย่างเช่นการออกแบบตัวละครที่ต้องการให้มีรอยสักแบบนี้ มีไฝที่ตรงนั้นตรงนี้ จะได้ออกมาถูกใจเราที่สุด
ข้อควรระวังคือ ไม่ควรนำภาพของศิลปินท่านอื่น ๆ มาใช้โดยที่ไม่ได้รับอนุญาตเด็ดขาดเลยนะคะ
3. หากไม่มีภาพในหัวแต่อยากขอ ‘อะไรก็ได้’ จริง ๆ ก็ทำได้นะ
บางคนอาจจะไม่ได้มีภาพที่อยากได้ แต่หลังจากติดตามสไตล์งานของนักออกแบบจนมั่นใจว่าอยากได้งานสไตล์นี้แล้ว เท่ากับว่าเรายอมรับและเชื่อใจในฝีมือของเขา จะบอกว่าอะไรก็ได้ ก็ไม่ผิดค่ะ แต่ผลงานที่ออกมาควรเป็นสิ่งที่เรายอมรับ และไม่ใช้คำใจร้ายไปทำให้ใครเสียความรู้สึก เพราะไม่ว่าใครก็ต้องการกำลังใจในการสร้างงานทั้งสิ้น ขึ้นชื่อว่าทำอาชีพนักออกแบบ รับว่าจ้างแล้ว ไม่มีใครอยากเอาชื่อไปแลกแล้วทำผลงานไม่ดีออกมาหรอกค่ะ
วงการศิลปะ งานอะไรก็ตามที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงงานอื่น ๆ ล้วนแต่ต้องเจออุปสรรคในแบบของตัวเองอยู่แล้ว ดังนั้นหากจะติอะไรใครก็ควรเป็นเรื่องของกระบวนการในการทำงานมากกว่า หากเป็นเรื่องของผลงานที่ไม่ตรงตามบรีฟ หรือไม่ถูกใจเรา ก็ต้องดูอีกทีว่าต้นเหตุของมันมาจากการสื่อสารที่ไม่เข้าใจ หรือเป็นเพราะอะไรกันแน่
เพราะว่าศิลปะไม่มีถูกผิด ไม่มีสวยไม่สวย มันเป็นเรื่องของความถูกใจ ความชอบ การตัดสินขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละคน ไม่ว่าจะวงการทำงานใดก็ตาม ความชัดเจนและการยินยอมทั้ง 2 ฝ่ายคือสิ่งสำคัญ ดังนั้นแล้วเพื่อให้การทำงานของทุกฝ่ายราบรื่น ไม่เกิดปัญหาก็ควรคุยให้ชัดเจนแต่เริ่มทั้งนั้น
อ้างอิงจาก: Retweet commission