ข่าว

กอนช. เฝ้าระวัง 17 จังหวัด เสี่ยงน้ำหลาก-ดินถล่ม หลังพายุคมปาซุ ทำทั่วไทยมีฝนเพิ่ม

สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ กอนช. เผย ภาพรวมปริมาณน้ำทั้งประเทศ 56,633 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 69 ประกาศเฝ้าระวัง 17 จังหวัด เสี่ยงน้ำหลาก-ดินถล่ม

วันนี้ (12 ต.ค.64) กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) รายงานสรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศไทย ระบุว่า ภาคเหนือตอนล่าง, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง, ภาคกลาง และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกหนักบางแห่ง โดยพายุโซนร้อนกำลังแรง “คมปาซุ” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน คาดว่าขึ้นฝั่งเวียดนามตอนบนวันที่ 14 ต.ค.นี้

โดย กอนช. ได้ติดตามสภาพอากาศพบว่า ช่วงวันที่ 11-17 ตุลาคม มรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีกำลังแรงตลอดช่วง และช่วงวันที่ 12-16 ตุลาคม ร่องมรสุมจะพาดผ่านบริเวณภาคเหนือตอนล่าง, ภาคกลาง, ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น

สำหรับฝนที่ตกในพื้นที่ภาคเหนือจะส่งผลดีต่อการเติมปริมาณน้ำเก็บกักให้แหล่งน้ำที่ปัจจุบันยังมีปริมาณน้ำไม่มากนัก แต่ยังคงเฝ้าระวังในพื้นที่ที่มีสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น ทั้งในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำชี-มูล จากนั้นหลังวันที่ 18 ตุลาคม ปริมาณฝนจะเริ่มลดลง

ภาพรวมปริมาณน้ำทั้งประเทศ 56,633 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 69 และแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 49,907 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 70

ส่วนจุดเฝ้าระวังน้ำน้อยยังคงอยู่ในพื้นที่ 5 แห่ง เฝ้าระวังน้ำมาก 16 แห่ง คือ บริเวณเขื่อนนฤบดินทรจินดา, เขื่อนลำพระเพลิง, เขื่อนแม่มอก, เขื่อนลำตะคอง, อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล, เขื่อนจุฬาภรณ์, เขื่อนแก่งกระจาน, เขื่อนลำนางรอง, เขื่อนทับเสลา, เขื่อนขุนด่านปราการชล, อ่างเก็บน้ำบึงบอระเพ็ด, เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน, เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์, เขื่อนอุบลรัตน์, เขื่อนกระเสียว และเขื่อนมูลบน

ขณะเดียวกัน กอนช. ยังได้คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก-ดินถล่ม ต้องเฝ้าระวังช่วง 1-2 วันนี้ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย, เชียงใหม่, ลำปาง, ลำพูน, ตาก, น่าน, พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, อุตรดิตถ์, อุทัยธานี, จันทบุรี, ตราด, ชุมพร, กระบี่, พังงา, ระนอง และสุราษฎร์ธานี

ขณะที่สถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำมีแนวโน้มสูงขึ้นและเสี่ยงน้ำล้นตลิ่ง บริเวณดังนี้

  • แม่น้ำชี อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม และอำเภอเมืองยโสธร อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร
  • แม่น้ำมูล อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา, อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์, อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ และอำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

ทั้งนี้ กอนช. ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ โดยคำนึงถึงการเก็บกักน้ำช่วงนี้ เพื่อเป็นประโยชน์กับประชาชนช่วงหน้าแล้งถัดไปให้ได้มากที่สุด พร้อมเร่งช่วยเหลือในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยให้สถานการณ์คลี่คลายลงและกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

อ่านข่าวเพิ่มเติม :

 

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button