ผวา! นักวิทย์ฯ ญี่ปุ่นพบ ไวรัสเยโซ เผยแพร่เชื้อสู่มนุษย์ได้
นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นพบ ไวรัสเยโซ ไวรัสประหลาดเกี่ยวข้องไข้เลือดออกไข้เลือดออกไครเมียน-คองโก และ โรคแกะไนโรบี สามารถแพร่เชื้อสู่มนุษย์ได้
เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม สำนักข่าว รัสเซียไทมส์ หรือ RT ได้รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ในประเทศญี่ปุ่นได้ค้นพบเชื้อไวรัสเยโซ (Yezo Virus) ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับ ไข้เลือดออกไข้เลือดออกไครเมียน-คองโก และ โรคแกะไนโรบี
โดยผู้ป่วยรายแรกถูกพบตั้งแต่ปี 2561 โดยผู้ป่วยอายุ 41 ปีในขณะนั้นถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล หลังจากมีไข้และปวดขา เนื่องจากถูกเห็บขณะเดินในป่าบนเกาะฮอกไกโด เคราะห์ดี ชายคนดังกล่าวมีผลตรวจเชื้อไวรัสทั้งหมดที่มีเห็บเป็นพาหนะออกมาเป็นลบ และได้รับอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาลหลังพักรักษาตัวนาน 2 สัปดาห์
ซึ่งนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮอกไกโด รวมถึงนายแพทย์เคอิตะ มัตซูโน นักไวรัสวิทยาจากสถาบันควบคุมโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คนของทางมหาวิทยาลัย ได้ทำการวิเคราะห์เลือดของคนไข้ และผลว่ามันมีต้นตอจากไวรัสใหม่ตัวหนึ่ง
โดยคณะวิจัยนำเสนอการค้นพบของพวกเขาในวารสาร การสื่อสารธรรมชาติ ในช่วงปลายเดือนกันยายน และพบว่าไวรัสใหม่นี้เป็นส่วนหนึ่งของสกุลหนึ่งที่มี 15 สายพันธุ์ ที่เรียกว่า “ไนโรไวรัส” โดย 4 ในนั้นสามารถก่อการติดเชื้อในมนุษย์ สายพันธุ์หนึ่งของสกุลไวรัสเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นสาเหตุของไข้เลือดออกไครเมียน-คองโก ซึ่งมีอาการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเจ็บปวดกล้ามเนื้อ ท้องเสีย มีเลือดออกใต้ผิวหนังและเยื่อบุต่างๆ เป็นไปได้ที่จะทำให้ตับล้มเหลวและเสียชีวิต
ไวรัสใหม่นี้ดูเหมือนจะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดที่สุดกับไวรัสซูลีนและไวรัสแทมดี ซึ่งพบในโรมาเนียและอุซเบกิสถานตามลำดับ ทั้งนี้ มีรายงานว่าไวรัสแทมดีเป็นต้นตอของภาวะไข้เฉียบพลันในจีนในช่วงหม่กี่ปีที่ผ่านมา จากรายงานการวิจัยที่เผยแพร่ในปี 2020
ผู้ป่วยไวรัส “เยโซ” อาจมีไข้สูงถึง 39 องศาเซลเซียส และลดจำนวนเกล็ดเลือดและเซลล์เม็ดเลือดขาว ซึ่งมีหน้าที่ในการเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค เพื่อป้องกันร่างกายให้ปลอดภัยจากจุลชีพก่อโรค อย่างเช่นแบคทีเรียและไวรัส
โดยนาย มัตซูโน กล่าวว่าคาดว่ามีผู้ป่วยติดโรคดังกล่าวแล้วอย่างน้อย 7 รายนับตั้งแต่ช่วงปี 2557 อย่างไรก็ตามไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสชนิดดังกล่าว
- พบ นิคเกิล ใน นม คาดเป็นต้นตอ โรคปริศนา อินเดีย ป่วยกว่า 600 ราย
- พบผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยโรคปริศนา แพทย์คาดสาเหตุมาจาก “บุหรี่ไฟฟ้า”