ข่าวเศรษฐกิจ

สรรพสามิต ส่ง ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้า ให้บอร์ดอีวีแล้ว

กรมสรรพสามิต ได้แถลงถึงการได้ข้อสรุปในส่วนของ ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้า เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยในเวลานี้เหลือแค่รอผลการพิจารณาจากบอร์ดอีวีอย่างเป็นทางการอีกทีหนึ่ง

วันนี้ (4 ต.ค. 2564) – กรมสรรพสามิต ได้ทำการประกาศแถลงถึงการบรรลุข้อสรุปของ ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้า เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจะทำการส่งโครงสร้างภาษีดังกล่าวให้แก่ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ทำการพิจารณา และอนุมัติ เพื่อที่จะบังคับใช้อย่างเป็นทาวการต่อไป

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมสรรพสามิตได้สรุปภาษีรถยนต์ระบบไฟฟ้า (รถอีวี) แล้ว และเตรียมเสนอคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เป็นประธานแล้ว ส่วนรายละเอียดโครงการสร้างภาษีนั้น ต้องรอให้บอร์ดอีวีจะประกาศอีกครั้ง เพื่อความชัดเจน

อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงไปใช้รถยนต์ไฟฟ้านั้น ไม่ได้เกิดขึ้นทันทีจนกระทบกับเรื่องภาษี แต่จะลักษณะค่อยเป็นค่อนไป โดยปี 2573 มีเป้าหมายขยายจำนวนการผลิตรถอีวีเป็น 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดภายในประเทศ และระยะถัดไปพัฒนาเป็นการผลิตรถอีวีให้ได้ 100% นอกจากนี้ ยังมีประเด็นแบตเตอรี่ที่จะต้องพิจารณาจัดเก็บภาษีด้วย

“สำหรับภาษีสรรพสามิตรถยนต์ในปัจจุบัน คำนวณภาษีตามการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของการทำงานของรถยนต์ ดังนั้นรถยนต์ใช้น้ำมันปล่อยก๊าซคาร์บอนได ออกไซด์สูงอัตราภาษีจะแพง ส่วนรถยนต์แบบผสมหรือไฮบริดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่า อัตราการเก็บภาษีก็ถูกลง ขณะที่รถอีวี แทบไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เลย ก็ควรจะต้องเก็บภาษีถูกที่สุด”

อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าวว่า หากในอนาคต เมื่อมีการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นจะทำให้มีการใช้น้ำมันน้อยลง เชื่อว่าไม่กระทบการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตเพราะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการจัดเก็บ ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีคาร์บอนนั้น เป็นทิศทางที่ทั่วโลกกำลังดำเนินการเปลี่ยนแปลงการจัดเก็บรายได้ อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยจะยังไม่ได้ศึกษาเรื่องการจัดเก็บภาษีคาร์บอนอย่างจริงจัง แต่เมื่อใดที่จะต้องจัดเก็บภาษีคาร์บอนอย่างจริงจังก็ต้องพิจารณาทุกภาคส่วน ทั้งรถยนต์โรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย เพื่อนำไปสู่การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศ

สำหรับการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิต ในปีงบประมาณ 2564 สามารถเก็บได้ 500,000 ล้านบาท ถือว่าต่ำกว่าเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณเล็กน้อยสาเหตุเนื่องจากจัดเก็บภาษีน้ำมันได้น้อยลง คนลดการเดินทาง ซึ่งเป็นไปตามามาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาล ส่วนภาษีรถยนต์ที่เก็บได้ลดลง เนื่องปัญหาจากการขาดแคลนชิปบางตัวที่ขาด ทำให้รถยนต์ประกอบออกมาเป็นคันที่สมบูรณ์ไม่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่นอกเหนือการควบคุมของกรมสรรพสามิต

ส่วนรายได้ในปีงบประมาณ 2565 นั้น ตั้งเป้าหมายว่า จัดเก็บได้ประมาณ 600,000 ล้านบาท โดยขณะนี้สถานการณ์เรื่องน้ำมันเริ่มดีขึ้น หลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์จะทำให้มีการเดินทางท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นเมื่อการแพร่ระบาดไวรัสโควิดคลี่คลาย จนยกเลิกประกาศล็อกดาวน์จะจัดเก็บรายได้ภาษีได้ใกล้เคียงเป้าหมายแน่นอน

สามารถติดตามข่าวเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวเศรษฐกิจ

 

 

N. Siripariyasak

นักเขียนคอนเทนต์ จับประเด็นด้านเศรษฐกิจ-การเงิน, เทคโนโลยี, ไอที และเกมส์ อัปเดตข่าวทั้งจากในประเทศไทย และต่างประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button