ภาพรวมน้ำท่วม 4 ต.ค. แม่น้ำสายหลักมีแนวโน้มเพิ่มสูง เฝ้าระวังลุ่มน้ำชี
สรุปภาพรวมน้ำท่วม 4 ต.ค. แม่น้ำสายหลักมีแนวโน้มเพิ่มสูง เฝ้าระวังลุ่มน้ำชี และน้ำท่วมขังจังหวัดขอนแก่น
วันนี้ 4 ต.ค. 64 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ รายงาน สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 4 ต.ค. 64 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ปกคลุมประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้มีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น
ทั่วประเทศ แม่น้ำสายหลักทั่วประเทศ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ยกเว้นภาคเหนือมีแนวโน้มลดลง
ปริมาณน้ำทั้งประเทศ 55,048 ล้าน ลบ.ม. (67%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 48,635 ล้าน ลบ.ม. (68%) เฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 5 แห่ง เฝ้าระวังน้ำมาก จำนวน 16 แห่ง (บึงบอระเพ็ด อ่างฯ แม่มอก อ่างฯ แควน้อยบำรุงแดน อ่างฯ ทับเสลา อ่างฯป่าสักชลสิทธิ์ อ่างฯกระเสียว อ่างฯ จุฬาภรณ์ อ่างฯ อุบลรัตน์ อ่างฯ ลำตะคอง อ่างฯ ลำพระเพลิง อ่างฯ มูลบน อ่างฯ ลำแซะ อ่างฯ ลำนางรอง อ่างฯ ขุนด่านปราการชล อ่างฯ นฤบดินทรจินดา และอ่างฯ หนองปลาไหล)
กอนช. ติดตามสถานการณ์น้ำหลากบริเวณลุ่มน้ำชีตอนบน และน้ำท่วมขังในพื้นที่ จ.ขอนแก่น ซึ่งระดับน้ำที่เขื่อนชนบท จ.ขอนแก่น สูงกว่าตลิ่งในช่วงพื้นที่ลุ่มต่ำประมาณ 3.50 เมตร และล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำชี ในพื้นที่ จ.ขอนแก่น ประกอบกับระดับน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น สูงเกินเกณฑ์ระดับน้ำควบคุมสูงสุด จึงจำเป็นต้องระบายน้ำลงลำน้ำพอง ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำชีเพิ่มสูงขึ้นและล้นตลิ่ง กอนช. คาดการณ์พื้นที่เฝ้าระวังระกับน้ำล้นตลิ่งบริเวณแม่น้ำชีและลำน้ำสาขา ในช่วงวันที่ 4 – 15 ต.ค. 64 ดังนี้
จ.ขอนแก่น อ.เมือง อ.โคกโพธิ์ชัย อ.มัญจาคีรี อ.แวงใหญ่ อ.แวงน้อย อ.ชนบท อ.บ้านไผ่ อ.บ้านแฮด และ อ.พระยืน
จ.มหาสารคาม อ.เมือง อ.โกสุมพิสัย และ อ.กันทรวิชัย
จ.กาฬสินธุ์ อ.ฆ้องชัย อ.กมลาไสย และ อ.ร่องคำ
จ.ร้อยเอ็ด อ.จังหาร อ.เชียงขวัญ อ.ธวัชบุรี อ.โพธิ์ชัย อ.เสลภูมิ อ.ทุ่งเขาหลวง อ.พนมไพร และ อ.อาจสามารถ
จ.ยโสธร อ.เมือง อ.คำเขื่อนแก้ว อ.มหาชนะชัย และ อ.ค้อวัง
จ.ศรีสะเกษ อ.กันทรารมย์
ทั้งนี้ กอนช. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ
ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่จุดเสี่ยงบริเวณที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ พร้อมประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมน้ำทราบล่วงหน้า เพื่อเตรียมพร้อมอพยพและเคลื่อนย้ายสิ่งของได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์
ปรับแผนบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ โดยพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำ จัดจราจรน้ำในการสับหลีกการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำและเร่งระบายน้ำในแม่น้ำ รองรับน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน ลดผลกระทบจากอุทกภัยและให้สถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว