ข่าวข่าวการเมือง

เพจ นิทานเด็ก โดนหมายเรียก สคบ. ส่อผิด ปมขายหนังสือผ่านเฟซบุ๊ก

เพจ นิทานเด็ก เผยได้รับหนังสือจาก สคบ.เรียกชี้แจงกรณีขายหนังสือผ่านเฟซบุ๊ก ส่อมีความผิด หลังก่อนหน้านี้ ประยุทธ์ และ ศธ. สั่งเร่งตรวจสอบเข้ม

กรณี เพจ วาดหวังหนังสือ ผลิตหนังสือนิทานสำหรับเด็กคล้ายตำราเรียน นำออกมาจัดจำหน่ายให้กับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ต่อมา กระทรวงศึกษาธิการ โดย ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ ได้สั่งตั้งทีมตรวจสอบนิทานเด็กดังกล่าวว่ามีเนื้อหาที่ปลุกปั่น สร้างความเกลียดชัง และครอบงำความคิดเด็กหรือไม่

โดยได้มอบหมายให้คณะทำงานเฉพาะกิจเข้ายื่นหนังสือต่อ 3 หน่วยงาน ได้แก่สภาความมั่นคงแห่งชาติ กองทัพบก และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้ดำเนินการตรวจสอบต่อประเด็นดังกล่าวโดยเร่งด่วน

ต่อมา นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย โฆษกประจำตัวรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.คุณหญิงกัลยา หนึ่งในคณะทำงานเฉพาะกิจ เปิดเผยว่า คุณหญิงกัลยาได้รับทราบข้อห่วงใยจาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา ต่อประเด็นดังกล่าว พร้อมได้มีการกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบและดำเนินการตามความเหมาะสม

ล่าสุดทางฝั่งเฟซบุ๊กแฟนเพจ วาดหวังหนังสือ ได้โพสต์ข้อความผ่านหน้าเพจ ระบุว่า หมาย…มา จากนักสืบสวนสอบสวนชำนาญการพิเศษ “ตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเป็นผู้รับเงินค่าสินค้า”

ค่ะ ขายนิทานค่ะ ขายแล้วรับเงินผิดหรือคะ? ห้ามขายหนังสือในเฟซบุ๊ก หรือคะ หรืออย่างไร? รบกวนผู้รู้ที่อ่านแล้วเข้าใจ มีความรู้ มีประสบการณ์ตรงนี้ ช่วยแนะนำหน่อยนะคะ ขอบคุณมากค่ะ

ภายหลังเว็บไซต์ข่าวสดออนไลน์รายงานว่า หนังสือดังกล่าวส่งมาจาก สํานักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีเนื้อหา ระบุว่า ได้รับการร้องเรียนขอให้ตรวจสอบเพจ วาดหวังหนังสือ ที่เสนอขายนิทานและรายการอื่นๆ ผ่านสื่อออนไลน์ ว่าเป็นการประกอบธุรกิจฝ่าฝืน พ.ร.บ.ขายตรง และตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 หรือไม่อย่างไร จีงเรียนเชิญให้พบเจ้าพนักงานในวันที่ 12 ต.ค.ที่จะถึงนี้ พร้อมหนังสือตัวอย่างที่ขาย เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจฃ

ทั้งนี้อ้างอิงจาก เว็บไซต์ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ได้เคยให้ข้อมูลด้านกฏหมายเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง โดยระบุไว้ดังนี้

“ตามพระราชบัญญัติ ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 มาตรา3 ถือว่าการขายสินค้า ออนไลน์เป็น “ตลาดแบบตรง” ซึ่งหมายความว่า การทำตลาดสินค้าหรือบริการในลักษณะของการสื่อสารข้อมูล เพื่อเสนอขายสินค้าหรือบริการโดยตรงต่อผู้บริโภค(มีตะกร้า ซื้อขาย รับเงินค่าซื้อขายสินค้า และบริการ)ซึ่งอยู่ห่างโดยระยะทาง และมุ่งหวังให้ผู้บริโภคแต่ละรายตอบกลับเพื่อซื้อสินค้า หรือบริการจากผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง”

“ในการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ตามมาตรา 27ได้ห้ามมิให้ ผู้ใดประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง เว้นแต่จะได้จดทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ตามพระราชบัญญัตินี้ นั่นหมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องดำเนินการ จดทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง เท่านั้น จึงจะสามารถให้บริการซื้อขายหนังสือผ่านช่องทางร้านค้าออนไลน์ได้อย่างถูกต้อง”

“ส่วน “บทลงโทษ”ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ ผู้ฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตาม จะมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 100,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่”

พระราชบัญญัติ ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button