ข่าวข่าวอาชญากรรม

อังคณา เผย ซ้อมผู้ต้องหา ไม่ใช่เรื่องใหม่ กรณี ผกก.โจ้ ไม่มีคลิปคงเอาผิดยาก

อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน ชี้กรณีตำรวจ ซ้อมผู้ต้องหา ไม่ใช่เรื่องใหม่ พร้อมระบุ กรณี ผกก.โจ้ หากไม่มีคลิปก็คงเอาผิดยาก

วันที่ 24 ส.ค.64 นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน โพสต์แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก Angkhana Neelapaijit ระบุ คลิปตำรวจ 5 คนซ้อมผู้ต้องหาโดยเอาถุงพลาสติกครอบศีรษะ และต่อมาถึงแก่ความตาย ในสถานที่คล้ายที่ทำการของหน่วยงานรัฐ ถือเป็นการกระทำที่โหดเหี้ยมอมหิตป่าเถื่อน ไร้มนุษยธรรมอย่างยิ่ง กรณีนี้ถ้าไม่มีคลิปวิดีโอเป็นหลักฐานยืนยันการกระทำผิดของตำรวจกลุ่มนี้ก็คงยากที่จะเอาผิดกับตำรวจทั้ง 5 ได้

เรื่องตำรวจซ้อมผู้ต้องหาระหว่างการควบคุมตัว ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย แม้เหยื่อหลายคนพยายามฟ้องร้องดำเนินคดีแต่สุดท้ายเมื่อไม่มีพยานหลักฐาน ทำให้ จนท เหล่านั้นลอยนวลพ้นผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า และญาติของเหยื่อหลายคนที่ออกมาร้องเรียน จนท มักจะถูกฟ้องกลับฐานแจ้งความเท็จ การทรมานและการบังคับสูญหายจึงเป็นเหมือนโศกนาฏกรรมของเหยื่อที่แทบไม่เคยมีผู้รับผิดชอบ

มีเหยื่ออึกหลายคนที่ถูก บังคับให้สูญหาย ภายหลังการถูกทรมาน เพื่อให้ จนท พ้นผิด เพราะเมื่อ ไม่มีศพก็ไม่มีความผิด การฆ่าและทำลายศพจึงเป็น อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Crime Against Humanity) ตามกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งไม่สามารถนิรโทษกรรมได้ไม่ว่าในสถานการณ์ใดๆ

การทรมานและการบังคับสูญหายโดยรัฐเกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานเพราะ จนท บางคนเชื่อว่าต้องทรมานเพื่อให้ได้ข้อมูลบางอย่าง หรือ คนไม่ดี สมควรที่จะถูกทำให้หายไป การไม่เกรงกลัวกฎหมายเพราะเชื่อว่าตัวเองจะไม่ต้องรับผิด หรือจะมีผู้บังคับบัญชาที่คอยปกป้องทำให้ จนท เหล่านี้ใช้วิธีการนอกกฎหมายมากขึ้น

พอเกิดเรื่องลักษณะนี้แต่ละที ทั้งนายกฯ ทั้ง ผบ.ตร. มักออกมายืนยันจะนำคนผิดมาลงโทษ อย่างไรก็ดี หากประชาชนยังไม่สามารถตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานความมั่นคงโดยเฉพาะตำรวจ ทั้งเรื่องการ ปฏิรูปตํารวจ ที่ล้มเหลวมาตลอดเพราะถูกคัดค้านโดยสถาบันตำรวจเอง หรือ กฎหมายเพื่อยุติการทรมานและการบังคับสูญหายที่ผ่านมติ ครม ตั้งแต่ปี 59 ยังไม่ถูกให้ความสำคัญ และไม่มีการรับรองว่าเนื้อหาสาระของกฎหมายจะสอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับสูญหายขององค์การสหประชาชาติ ก็คงยากที่จะยุติการบังคับสูญหายในประเทศไทย และผู้กระทำผิดก็จะยังคงลอยนวลพ้นผิด ในขณะที่เหยื่อไม่สามารถเข้าถึงการชดใช้เยียวยา ทั้งการเยียวยาทางกฎหมาย (Judicial remedy) การคืนศักดิ์ศรี สิทธิที่จะทราบความจริง (right to truth) รวมถึงการประกันว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดซ้ำ

 

 

 

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button