ข่าว

โกฐจุฬาลัมพา คืออะไร หลังผลวิจัยสหรัฐชี้ช่วยยับยั้งโควิดได้

พาไปทำความรู้จัก โกฐจุฬาลัมพา หลัง นักวิจัยสหรัฐฯ พบต้านเชื้อโควิดได้ แต่ต้องใช้ตามคำแนะนำของแพทย์แผนไทย ใช้ผิดเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต

โกฐจุฬาลัมพายับยั้งโควิด – วันที่ 1 ส.ค.64 เพจ BIOTHAI (มูลนิธิชีววิถี) ได้โพสต์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ โกศจุฬาลัมพา ซึ่งคณะวิจัยในสหรัฐอเมริกา Columbia University และ University of Washington ตีพิมพ์ผลการวิจัยในห้องปฏิบัติการเมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา พบสารสกัดโดยน้ำร้อนของสมุนไพรนี้มีฤทธิ์ยับยั้งโควิดได้ สอดคล้องกับงานวิจัยก่อนหน้านี้ของนักวิจัยในจีน และการส่งเสริมโดยประธานาธิบดีแห่งมาดากัสการ์

ด้วยเหตุนี้ เราขออาสาพาไปทำความรู้จักกับ โกฐจุฬาลัมพา สมุนไพรตัวนี้กันให้มากขึ้น

รู้จักกับ โกศจุฬาลัมพา ?

โกศจุฬาลัมพา มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Artemisia annua L. ชื่ออื่นที่ใช้เรียก ชิงฮาว, แชเฮา (ภาษาจีน) และ Sweet Wormwood Herb

ลักษณะเป็นไม้ล้มสุก อายุปีเดียว สูง 0.7-1.6 เมตร แตกกิ่งมากๆ ทั้งต้นมีกลิ่นแรง มีขนประปราย หลุดร่วงง่าย ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงเวียน มีต่อมโปร่งแสง

ใบบริเวณโคนต้นรูปไข่หรือรูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่กว้าง 2-6 เซนติเมตร ยาว 3-7 เซนติเมตร ขอบใบหยักลึกแบบขนนก 3 หรือ 4 ชั้น เป็น 5-8 คู่ แฉกใบจักฟันเลื่อยลึกรูปสามเหลี่ยม เส้นกลางใบเด่นชัดทางด้านบนแกนกลางใบมีปีกแคบ อาจจักฟันเลื่อยเล็กน้อยหรือเรียบ ใบบริเวณกลางต้นหยักลึกแบบขนนก 2 หรือ 3 ชั้น ใบใกล้ยอดรวมทั้งใบประดับหยักลึกแบบขนนก 1 หรือ 2 ชั้น ก้านใบสั้นมาก

ช่อดอก แบบช่อแยกแขนง รูปพีระมิดกว้าง ช่อย่อยแบบช่อกระจุกแน่น รูปกลม มีจำนวนมาก เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5-2.5 มิลลิเมตร

สีเหลืองถึงสีเหลืองเข้ม ก้านช่อย่อยสั้น วงนอกเป็นดอกเพศเมียมี 10-18 ดอก โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายจักซี่ฟัน 5 ซี่ เกสรเพศผู้มี 5 อัน อับเรณูเชื่อมติดกัน แต่ละอันมีรยางค์ (ส่วนที่ยื่นออกมาจากส่วนหลักของอวัยวะสิ่งมีชีวิต) ด้านบน 1 อันรูปสามเหลี่ยมปลายแหลม และมีรยางค์ปลายมนที่โคน 2 อัน

ผล แบบผลแห้งเมล็ดล่อนรูปไข่แกมรี ยาวประมาณ 0.5 มิลลิเมตร

ส่วนที่ใช้ทำยา คือ ลำต้นแห้ง

สรรพคุณของแต่ละส่วนที่ใช้ทำยา ตำราสรรพุณยาไทยว่าโกฐจุฬาลัมพา มีสรรพคุณแก้ไข้เจลียง (ไข้จับวันเว้นวัน-เป็นไข้จับสั่นประเภทหนึ่ง) แก้ไข้ ลดเสมหะ แก้หืด แก้ไอ ใช้เป็นยาขับเหงื่อ

โกฐจุฬาลัมพา จัดเป็นโกฐชนิดหนึ่งในพิกัดโกฐทั้ง 5 (เบญจโกฐ) โกฐทั้ง 7 (สัตตโกฐ) และโกฐทั้ง 9(เนาวโกฐ) ตำรายาของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน มีมอโนกราฟโกฐจุฬาลัมพา โดยระบุข้อบ่งใช้ว่าใช้แก้ไข้อันเกิดจากความร้อนในฤดูร้อน แก้ไข้ต่ำ ๆ ที่ไม่มีเหงื่อ แก้ไข้อันเนื่องจากวัณโรค และแก้ไข้จับสั่น

รายงานการวิจัยในปัจจุบัน

ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยพบว่าสารชิงฮาวซู (อาร์เทแอนนูอินหรืออาร์เทมิซินิน) แสดงฤทธิ์ต้านเชื้อไข้จับสั่นชนิดฟัลซิพารุม (Plasmodium falciparum) และชนิดไวแวกซ์ (Plasmodium vivax)

โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่ดื้อยา ปัจจุบันสารชนิดนี้กับอนุพันธุ์กึ่งเคมีสังเคราะห์ของสารชนิดนี้ถูกนำมาใช้เป็นยาแก้ไข้จับสั่นในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย

การจำหน่าย ต้นแห้งราคากิโลกรัมละ 100-200 บาท

อย่างไรก็ตาม การค้นพบดังกล่าวยังคงได้ผลสำเร็จในห้องปฏิบัติ ดังนั้น จึงควรรอความชัดเจนจากแพทย์และการทดลองด้านอื่น ๆ ประกอบด้วย ขณะเดียวกันการใช้ยาควรใช้ตามคำแนะนำของหมอพื้นบ้าน และแพทย์แผนไทย

ขอบคุณข้อมูล : สถาบันการแพทย์แผนไทย

วางแผนทางการเงินเมื่อป่วยโควิด สนใจทำประวัติโควิด-19 กับ Tadoo คลิกที่นี่

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button