การเงิน

ธอส. ออก มาตรการเยียวยา 7 ประการ สำหรับกรณี โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ดำเนินการออก มาตรการเยียวยา สำหรับกรณี โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้ ด้วยกันทั้งหมด 7 ประการ แก่ลูกค้า ผู้ที่ได้รับผลกระทบ

ในวันนี้ (5 ก.ค.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้ทำการประกาศถึงการดำเนินการ มาตรการเยียวยา ด้วยกันทั้งสิ้น 7 ประการ แก่ลูกค้าของธนาคารที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้ เมื่อเร็ว ๆ นี้

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ระเบิดและเพลิงไหม้ในโรงงานผลิตเม็ดโฟมพลาสติก ซอยกิ่งแก้ว 21 ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อช่วงเช้าของวันนี้ (5 กรกฎาคม 2564) ส่งผลให้ที่อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียงเกิดความเสียหายและยังอาจส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพหรือรายได้ของประชาชน

ธอส. ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ จึงได้จัดทำ “มาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากเหตุระเบิด-เพลิงไหม้ โรงงานย่านกิ่งแก้ว” สำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านอยู่อาศัยหรือผลกระทบด้านรายได้จากเหตุการณ์ในพื้นที่ดังกล่าว ภายใต้กรอบวงเงินรวมของโครงการ 500 ล้านบาท ผ่าน 7 มาตรการเร่งด่วน

โดยพิจารณาตามระดับความเสียหาย ซึ่งมีรายละเอียดประกอบด้วย

  • ประการที่ 1 สำหรับลูกค้าเดิมของ ธอส. ที่หลักประกัน (ที่อยู่อาศัยที่จดจำนองกับธนาคาร) หรือรายได้จากการประกอบอาชีพได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว
    • สามารถขอลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 0.01% ต่อปี เป็นระยะเวลา 1 ปี และเมื่อผ่อนชำระครบแล้วให้กลับไปใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิ์เดิมของลูกค้าก่อนใช้มาตรการ
  • ประการที่ 2 สำหรับลูกค้าใหม่ หรือลูกค้าเดิมของ ธอส. หากที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายและต้องการซ่อมแซม
    • สามารถขอกู้เพิ่ม หรือกู้ใหม่ เพื่อซ่อมแซมอาคารที่ได้รับความเสียหายหรือปลูกสร้างอาคารทดแทนอาคารเดิมที่ได้รับความเสียหาย
    • คิดอัตราดอกเบี้ยปีที่ 1 เท่ากับ 1% ต่อปี ปีที่ 2-3 เท่ากับ 3% ต่อปี และปีที่ 4 เป็นต้นไป กรณีลูกค้าสวัสดิการคิดอัตราดอกเบี้ย MRR-1.00% ต่อปี และลูกค้ารายย่อย คิดอัตราดอกเบี้ย MRR-0.50% ต่อปี
  • มาตรการที่ 3 ลูกหนี้ที่ค้างชำระเงินงวดติดต่อกันมากกว่า 3 เดือน หรือมีสถานะอยู่ระหว่างการประนอมหนี้ที่หลักประกันได้รับความเสียหาย
    • ให้ประนอมหนี้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี โดยได้รับอัตราดอกเบี้ย 0% ในช่วง 4 เดือนแรก และไม่ต้องชำระเงินงวดนาน 4 เดือน เดือนที่ 5-12 อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน บวกเพิ่มอีก 100 บาท และเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ให้ลูกค้ากลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิ์เดิมก่อนใช้มาตรการ
  • มาตรการที่ 4 ลูกหนี้ที่ค้างชำระเงินงวดติดต่อกันมากกว่า 3 เดือน หรือมีสถานะอยู่ระหว่างการประนอมหนี้ ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้
    • ให้ประนอมหนี้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี อัตราดอกเบี้ย เท่ากับ 1% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน บวกเพิ่มอีก 100 บาท
    • เมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ ให้ลูกค้ากลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิ์เดิมก่อนใช้มาตรการ
  • ข้อที่ 5 ลูกหนี้ที่ค้างชำระเงินงวดติดต่อกันมากกว่า 3 เดือน หรือมีสถานะอยู่ระหว่างการประนอมหนี้ที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร
    • ให้ผ่อนชำระโดยใช้อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ตลอดระยะเวลาที่คงเหลือตามสัญญากู้
  • ข้อที่ 6 ลูกหนี้ที่ค้างชำระเงินงวดมากกว่า 3 เดือนติดต่อกัน หรือมีสถานะอยู่ระหว่างการประนอมหนี้
    • กรณีที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลังและไม่สามารถซ่อมแซมได้ ให้ปลอดหนี้ในส่วนของราคาอาคาร และให้ผ่อนชำระต่อเฉพาะในส่วนของที่ดินที่คงเหลือเท่านั้น
  • มาตรการที่ 7 ลูกค้าที่หลักประกันได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
    • อาทิ กระจกแตก เกิดรอยร้าว ตามตัวอาคาร หรืออื่น ๆ สามารถแจ้งเคลมความเสียหายได้
    • โดยพิจารณาจ่ายค่าสินไหมให้ตามมูลค่าของความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงแต่ไม่เกินทุนประกันอาคาร สามารถติดต่อมาที่ส่วนธุรกรรมประกันภัย ธอส. โทร. 0-2202-1385 ถึง 89 หรือ บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด(มหาชน) โทร. 0-2631-1311 ต่อ 5312, 5340
    • พร้อมแจ้ง ชื่อ-นามสกุล เลขที่บัญชีเงินกู้ และเบอร์โทรศัพท์ติดต่อ หลังจากนั้นบริษัทประกันภัยจะติดต่อนัดหมายกับลูกค้าเพื่อเข้าสำรวจความเสียหายและพิจารณาจ่ายค่าสินไหมให้แก่ลูกค้าเพื่อบรรเทาผลกระทบโดยเร็วต่อไป

ทั้งนี้ ลูกค้าที่ประสงค์เข้าร่วมมาตรการสามารถติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ถึงภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2564 หรือภายใต้กรอบวงเงินที่ธนาคารกำหนด

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธอส. ทุกสาขาทั่วประเทศหรือศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์(Call Center) โทร 0-2645-9000 หรือ www.ghbank.co.th และ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์

ธอส. มาตรการเยียวยา โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้

 

แหล่งที่มาของข่าว : รัฐบาลไทย

สามารถติดตามข่าวการเงินเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวการเงิน

 

 

N. Siripariyasak

นักเขียนคอนเทนต์ จับประเด็นด้านเศรษฐกิจ-การเงิน, เทคโนโลยี, ไอที และเกมส์ อัปเดตข่าวทั้งจากในประเทศไทย และต่างประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button