ข่าว

สมาคมเวชศาสตร์ฯ เสนอ 5 ข้อ แก้วิกฤตโควิดล้น กรุงเทพ-ปริมณฑล

เพราะ กทม. ยังน่าห่วง เหลือเตียงรองรับผู้ป่วยไม่มาก สมาคมเวชศาสตร์ฯ เสนอ 5 ข้อ แก้วิกฤต โควิดล้น กรุงเทพ-ปริมณฑล

เพจ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยแพร่ประกาศ สมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 64 ประกอบด้วย 5 ข้อ เร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาไวรัสโควิด-19 ระบาดหนักจนส่งผลให้ระบบรักษาพยาบาลเริ่มไม่เพียงพอ ต่อการรองรับผู้ป่วย

1. เร่งรัดการฉีดวัคซีนให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ใน 3 เดือน

2. ประชาชนต้องตระหนักถึงมาตรการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 อย่างเข้มงวด แม้จะได้รับการฉีดวัคซีนแล้วก็ตาม

3. จัดให้มีการเฝ้าระวัง สถานที่ต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ อาทิ ชุมชน ตลาด คอนโดฯ สถานประกอบการ โดยให้เจ้าของหรือผู้ประกอบการ มีหน้าที่คัดกรองด้วยแบบสอบถาม ไทยเซฟไทย ของกรมอนามัย เน้นผู้ที่เข้าออกเป็นประจำ

4. เฝ้าระวังในพื้นที่ที่ยังไม่มีการระบาด ด้วยการสุ่มตรวจหาเชื้อ อย่างน้อยเดือนละครั้ง ครั้งละไม่น้อยกว่า 70 คน/แห่ง หากพบในแต่ละแห่งติดเชื้อมากกว่า 2 คน ต้องตรวจเชิงรุกอย่างละเอียด

5. ต้องจัดให้มีหน่วยงานสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว ในพื้นที่ กทม.- ปริมณฑล อย่างน้อย เขตหรืออำเภอละ 3 ทีม ทีมละ 4 คน และจะต้องสอบสวนโรคให้เสร็จสิ้นภายใน 24 ชม. เมื่อทราบว่ามีการระบาดโรค

สมาคมเวชศาสตร์

ทั้งนี้ ระบบการรักษาในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล กำลังเจอวิกฤตหนัก

ไม่นานนี้ เพจเฟซบุ๊ก คุณหมอธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ระบุ รพ.จุฬาฯ จำเป็นต้องปิดคัดกรองโควิด 4 วัน ระหว่างวันที่ 24 – 27 มิ.ย. 64 เนื่องจากเตียงรักษาไม่พอ

ขณะที่ รายงานจาก บีบีซี ไทย (BBC Thai) ข้อมูลเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. พบว่า ขณะนี้จำนวนเตียงในสถานพยาบาลภาครัฐ ผู้ป่วยโควิดสีแดง มีจำนวนครองเตียงที่ 409 ราย เหลือเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยโควิดสีแดง ประมาณ 20 เตียงเท่านั้น ต้องเก็บไว้รองรับผู้ป่วยโควิดที่มีภาวะฉุกเฉินหรือต้องผ่าตัดช่วยเหลือเร่งด่วน

ส่วนผู้ป่วยโควิดสีเหลือง มีจำนวนครองเตียงอยู่ที่ 3,937 ราย และเหลือเตียงสำหรับการรองรับผู้ป่วยโควิดสีเหลืองอีกประมาณ 300 รายเท่านั้น

จากสถานการณ์ที่จำนวนเตียงเหลือน้อย สวนทางกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

การประสานงานผ่านระบบจัดหาเตียง 1668 จึงมีความล่าช้าบ้าง เนื่องจากต้องบริหารเตียงที่เหลืออยู่ก่อนจึงจะสามารถรับผู้ป่วยรายใหม่ได้ ทำให้สถานการณ์เตียงโรคโควิด 19 ในเขตกทม. ณ ขณะนี้ค่อนข้างน่าเป็นห่วงอย่างมาก

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button