ข่าว

สรุปดราม่า วัคซีน ไทยเบฟ มหาดไทย ไม่เลือกปฏิบัติ แค่สื่อสารคลาดเคลื่อน

ดราม่า วัคซีน ไทยเบฟ กับ มหาดไทย มีที่มา ที่ไปอย่างไร แล้วคำถามที่ว่า รัฐเลือกปฏิบัตินั้นจริงหรือไม่ ที่นี่มีคำตอบ

ดราม่าบังเกิดเมื่อหนังสือเร่งหาวัคซีนให้ ไทยเบฟ ที่มาจาก มหาดไทย ถูกนำมาเผยแพร่

ประเด็นเริ่มต้นจากวันที่ 19 มิ.ย. 64 เรื่องเด่นออนไลน์ เพจข่าวออนไลน์ เผยแพร่ โทรสารในราชการ กระทรวง มหาดไทย จากศูนย์โควิดฯ มท. ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ลงท้ายหนังสือด้วยชื่อ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ระบุ

“ให้จังหวัดพิจารณาให้การสนับสนุนวัคซีน” ภายหลังบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ขอความอนุเคราะห์สนับสนุนวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคให้กับพนักงาน 43,201 คน และครอบครัวของพนักงานบริษัทไทยเบฟฯ 28,244 คน ใน 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร รวม 71,445 คน

หลังเอกสารนี้ถูกเผยแพร่ก็มีเสียงวิจารณ์ขึ้นทันที ว่าการกระทำของ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) เหมาะสมหรือไม่

เป็นการเลือกปฏิบัติหรือเปล่า ที่เร่งจัดหาวัคซีนให้บริษัทใหญ่ก่อน ทั้งที่ผู้ลงทะเบียนรอรับการฉีดวัคซีน ผ่านระบบหมอพร้อม ยังไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีนได้ครบและถูกเลื่อนหลายเคส

จริงๆแล้ว วันที่ 8 มิ.ย. ไทยเบฟ ส่งหนังสือถึงปลัดกระทรวงก่อนหน้า

ก่อนหน้านี้ บริษัท ไทยเบฟฯ ลงนามโดย “นายฐาปน สิริวัฒนภักดี” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) ได้ส่งหนังสือถึง “ปลัดกระทรวงมหาดไทย” เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2564 เรื่อง “การฉีดวัคซีนโควิด 19” ความว่า..

ตามที่รัฐบาลมีนโยบายในการฉีดวัคซีนป้องกันการเผยแพร่ของไวรัสโควิด 19 ให้กับประชาชนทั่วประเทศ และกระทรวงสาธารณสุข โดยคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้มีหนังสือแจ้งเรียนให้องค์กรขนาดใหญ่ที่มีบุคลากรอยู่ในหลายจังหวัดแจ้งมายังอธิบดีกรมควบคุมโรค เพื่อขอรับวัคซีนไปฉีดให้บุคลากรในสังกัด โดยจัดหาสถานพยาบาลรองรับการฉีดเอง(มีเอกสารแนบท้ายระบุจำนวนพนักงานและครอบครัวพนักงานบริษัท) บริษัทไทยเบฟฯ ได้แจ้งจำนวนพนักงานและครอบครัวของพนักงานของบริษัทฯ ที่มีความจำเป้น และต้องการรับวัคซีน

ในการนี้ บริษัท ไทยเบฟฯ จึงใคร่ขอความอนุเคราะห์กระทรวงมหาดไทย ในการจัดฉีดวัคซีนให้กับพนักงาน และครอบครัวของพนักงานบริษัทที่มีความจำเป็น และต้องการฉีดวัควีนใน 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร

พร้อมกันนี้ได้ขอบคุณกระทรวงมหาดไทย และมอบหมายให้ “นายปะระวิช สุขุม” ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ฯ เป็นผู้ประสานในรายละเอียดต่อไป

อย่างไรก็ตาม บริษัทไทยเบฟฯ ยืนยันแนวทางการปฏิบัติดังกล่าว เป็นไปตามประกาศของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ

ต่อมา เดลินิวส์ รายงานคำกล่าวอ้างของ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามแนวทางของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ที่ผ่านมามีทั้งส่วนราชการ เอกชน สมาคม สภาอุตสาหกรรม ที่ทำหนังสือเพื่อขอให้จัดสรรวัคซีนไปให้บุคลากร ทุกอย่างดำเนินการตามขั้นตอน เมื่อขอมาก็มีการสำรวจ และดำเนินการจัดสรรให้ ไม่เฉพาะไทยเบฟ อย่างเดียว แต่ทุกองค์กรสามารถร้องขอได้

ขณะเดียวกัน นายฉัตรชัย ก็ได้ให้สัมภาษณ์กับ บีบีซี ไทย ว่า เป็นการรวบรวมข้อมูลขององค์กรขนาดใหญ่ ที่มีความเสี่ยง ทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน โดยกรณีของ ไทยเบฟ ยังไม่มีการจัดสรรใด ๆ

ยกเลิกคำสั่งในที่สุด

ต่อมา ดราม่าจัดหาวัคซีนไทยเบฟ คำสั่งจัดสรรเร่งด่วนก็มาถูกยกเลิกเอาในวันที่ 20 มิ.ย. หลังจาก นายฉัตรชัย ปลัดกระทรวงมหาดไทย ออกหนังสือสั่ง ‘ยกเลิก’ หนังสือจัดสรรวัคซีนโควิด19 ให้ บ.ไทยเบฟฯ ที่ลงนามไว้ในวันที่ 17 มิ.ย. พร้อมระบุ ให้ผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ถือปฏิบัติตามคณะกรรมการโรคติดต่อ และ ศบค.

ไทยเบฟ มหาดไทย

ยืนยันแค่การสื่อสารคลาดเคลื่อน

ด้าน พล.อ.อนุพงษ์​ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ออกมายืนยันวันนี้ (21 มิ.ย.64) ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า หนังสือสนับสนุนการวัคซีน ไทยเบฟ เป็น”การสื่อสารที่คลาดเคลื่อน”

การดำเนินการต้องเป็นไปตามนโยบายของ ศบค. คือ มีช่องทางที่จะให้สนับสนุนให้กับบุคคลและกลุ่มบุคคลรวมไปถึงองค์กรได้ แต่ต้องเข้าสู่ช่องทาง หมอพร้อม การกระจายวัคซีนเป็นของ ศบค. จะกระจายไปในพื้นที่ใดหรือจำนวนเท่าไหร่ เมื่อกระจายไปแล้วผู้ที่จะดำเนินการต่อคือ คณะกรรมการ​โรคติดต่อ​จังหวัด

ขณะที่ พล.อ.ณัฐพล​ นาคพาณิชย์​ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ​(สมช.) ​ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศปก.ศบค.) วอนอย่ามองว่าใช้เส้นสาย ยกตัวอย่างหน่วยงานหนึ่งมีพนักงาน 2-3 พันคน เราไปฉีดให้ทั้งองค์กรทีเดียวก็จะสะดวกกว่า

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button