ข่าวเศรษฐกิจ

ธ.ก.ส. ประมาณการณ์ ราคาสินค้าเกษตร ประจำ เดือน มิ.ย.

ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. ได้ทำการเปิดเผยถึงผลการประมาณการณ์ ราคาสินค้าเกษตร ประจำ เดือน มิ.ย. 2564 พบว่า ข้าวหนียวเปลือก ยางพาราแผ่นดิบ และปาล๋มน้ำมัน จะมีราคาสูงขึ้น

​ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. ชี้ความต้องการของตลาดโลก และสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงเกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ ราคาสินค้าเกษตร เดือน มิถุนายน (มิ.ย.) 2564 ได้แก่ ข้าวเปลือกเหนียว น้ำตาลทรายดิบ ยางพาราแผ่นดิบ และปาล์มน้ำมัน มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น

ด้านข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง สุกร กุ้งขาวแวนนาไม และ โคเนื้อ มีแนวโน้มราคาปรับลดลง

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนมิถุนายน 2564

โดยสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่

  1. ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่ 10,637 -10,680 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.92 – 1.33 เนื่องจากความต้องการบริโภคข้าวเหนียวเพิ่มขึ้น ในเทศกาลวันไหว้บ๊ะจ่างของชาวจีน ประกอบกับสต็อกข้าวเหนียวของผู้ประกอบการเริ่มลดลง
  2. น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ราคาอยู่ที่ 17.14 – 17.24 เซนต์/ปอนด์ (11.89 – 11.96 บาท/กก.) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.60 – 1.20 เนื่องจากคาดว่าปริมาณการผลิตและการส่งออกเอทานอลของประเทศบราซิลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
    • โดยพบว่ายอดการส่งออกเอทานอลในช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 69.2 จากปีก่อน ทำให้โรงงานน้ำตาลของบราซิลปรับเพิ่มสัดส่วนการนำอ้อยไปผลิตเอทานอล
    • ขณะที่ความต้องการใช้น้ำตาลของโลกยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยจีนได้ปรับเพิ่มการคาดการณ์การนำเข้าน้ำตาลอีก 0.6 ล้านตันเป็น 4.5 ล้านตัน จากการที่ผลผลิตน้ำตาลภายในประเทศลดลง
  3. ยางพาราแผ่นดิบชั้น 3 ราคาอยู่ที่ 58.08 – 58.80 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.82 – 2.07 เนื่องจากปริมาณยางพาราที่ออกสู่ตลาดมีแนวโน้มลดลงกว่าที่คาดการณ์ จากการขาดแคลนแรงงานกรีดยางและภูมิอากาศฝนตกชุก ประกอบกับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากการเข้าถึงและการกระจายวัคซีน ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลเยนของประเทศญี่ปุ่น และเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ
  4. ปาล์มน้ำมัน ราคาอยู่ที่ 5.16 – 5.22 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 4.09 – 5.33 เนื่องจากผลผลิตน้ำมันปาล์มของประเทศมาเลเซียซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มอันดับ 2 ของโลกปรับตัวลดลง เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างชาติในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน

ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง ได้แก่

  • ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาอยู่ที่ 8,642 – 8,706 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.24 – 1.96 เนื่องจากปริมาณผลผลิตข้าวและสต็อกข้าวของอินเดียซึ่งเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีปริมาณข้าวส่วนเกินระบายออกสู่ตลาดโลกเป็นจำนวนมาก
  • ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาอยู่ที่ 11,235 – 11,381 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.51 – 2.77 เนื่องจากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ทำให้เกิดปัญหาการส่งออกข้าวไทย โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกาและตลาดยุโรป ประกอบกับความต้องการใช้ของผู้ประกอบการ อาทิ ร้านอาหารและภัตตาคารลดลงจากนโยบายควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
  • ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาอยู่ที่ 7.59 – 7.63 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.20 – 0.80 เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มต้นฤดูการ เก็บเกี่ยวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่นที่ 1 ปริมาณผลผลิตทยอยออกสู่ตลาด ขณะที่ผู้ประกอบการได้มีการนำเข้าวัตถุดิบอื่นเพื่อผลิตอาหารสัตว์ในช่วงก่อนหน้า ส่งผลให้ความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศทรงตัว
  • มันสำปะหลัง ราคาอยู่ที่ 1.89 – 1.93 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.52 – 2.58 เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูกาลเก็บเกี่ยว ลานมันสำปะหลังเส้นปิดการรับซื้อ และผลผลิตที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวได้อาจมีคุณภาพลดลงจากปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น
  • สุกร ราคาอยู่ที่ 75.08 -76.28 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.44 – 2.01 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังรุนแรงต่อเนื่อง และมาตรการเลื่อนการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ส่งผลให้ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรลดลง
  • กุ้งขาวแวนนาไม ราคาอยู่ที่ 137.20 – 138.32 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 1.20 – 2.00 เนื่องจากมีปัจจัยกดดันราคาจากมาตรการควบคุมร้านอาหารเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่คาดว่าจะยังคงเข้มงวดในพื้นที่เสี่ยงสูง และความกังวลของผู้บริโภคในเรื่องความปลอดภัย ประกอบกับสถานการณ์การท่องเที่ยวในประเทศที่ซบเซา ส่งผลให้ความต้องการบริโภคกุ้งในประเทศลดลง
  • โคเนื้อ ราคาอยู่ที่ 98.24– 98.31 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.01 – 0.08 เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน ความต้องการบริโภคเนื้อโคลดลง ตามแนวโน้มเนื้อสัตว์ประเภทอื่น จากอาหารตามธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น ถึงแม้ผลผลิตเนื้อโคอาจลดลงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคลัมปีสกินในโคและกระบือ

 

แหล่งที่มาของข่าว : Facebook Page – สถานีข่าวกระทรวงการคลัง

สามารถติดตามข่าวเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวเศรษฐกิจ

 

N. Siripariyasak

นักเขียนคอนเทนต์ จับประเด็นด้านเศรษฐกิจ-การเงิน, เทคโนโลยี, ไอที และเกมส์ อัปเดตข่าวทั้งจากในประเทศไทย และต่างประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button